เรื่องโดย
ชวลิต วิทยานนท์ & จารุปภา วะสี
เมื่อเร็ว ๆ มีเหตุการณ์ที่เป็น talk of the town ทั่วโลก เมื่อเรือดำน้ำ Titan ที่พานักผจญภัยลงทะเลลึกไปดูซากเรือไททานิกนั้นเกิดการระเบิดแบบ implosion ทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดในเรือเสียชีวิต จากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับใต้ทะเลลึก ทั้งเรื่องการสำรวจและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ก้นทะเลลึกนั้น วันนี้เลยจะมาเล่าเรื่องการสำรวจปลาใต้ทะเลลึกในน่านน้ำไทยให้ฟัง พร้อมด้วยภาพปลาทะเลลึกที่หาดูยากหลายชนิด
ทุกวันนี้เด็กไทยรู้จักแผนที่หลุมบนดวงจันทร์มากกว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลน่านน้ำไทยเสียอีก โดยเฉพาะในก้นทะเลลึก เพราะเมืองไทยมีการสำรวจปลาทะเลลึกน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดที่ต้องใช้ต้นทุนมหาศาล และต้องใช้เครื่องมืออย่างดีจากต่างประเทศ เช่น จะลากอวนสำรวจน้ำลึก 100 เมตร ก็ต้องใช้เชือกสายคร่าวอวน 300-400 เมตร (3-4 เท่าของความลึก) หรือหากจะใช้เรือดำน้ำขนาดเล็กแบบใช้รีโมตคอนโทรลก็ต้องใช้งบร่วมพันล้านแบบยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ก็มีหลายประเทศแล้ว ที่มีเรือประมงออกไปจับสัตว์ทะเลลึกมาหม่ำ และจะพบได้ในท้องตลาด เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น
การสำรวจสมุทรศาสตร์และชีวิตในทะเลลึกของบ้านเราเริ่มทำกันในสมัยนาวาโท สว่าง เจริญผล อดีตอธิบดีกรมประมง ที่ถือเป็นยุคทองสุด ๆ ของกรมประมง ประมาณปี พ.ศ. 2516-20 แต่ถึงอย่างนั้นก็ลากอวนได้ไม่กี่ครั้ง เพราะใช้ต้นทุนสูง และเสี่ยงต่อความเสียหายใต้ความลึก เช่น ลูกทุ่นแตกจากความดัน การไปติดกับโขดหิน ผลสำรวจช่วงนั้นได้ชนิดปลาแปลก ๆ มาจำนวนหนึ่งเป็นข้อมูลตีพิมพ์อยู่ในห้องสมุดของกรมประมง
คำว่า “ทะเลลึก” ของไทยคือ ทะเลอันดามัน ซึ่งในน่านน้ำไทยลึกเฉลี่ย 200-400 เมตร จุดลึกสุดประมาณ 1 กิโลเมตรอยู่เกือบทับกับน่านน้ำอินเดียใกล้ชายแดนหมู่เกาะนิโคบาร์ ที่มีเรือนักตกปลาของไทยเคยไปถูกเรือลาดตระเวณอินเดียไล่ยิงจนพรุนมาแล้วครั้งนึง
เมื่อราว 3 ปีก่อน คุณศักดา อาบสุวรรณ นักวิชาการประมงของกรมประมง ได้ไปร่วมโครงการสำรวจกับเรือ RV Dr Fridtjof Nansen ในโครงการที่ประเทศนอร์เวย์ทำร่วมกับประเทศอาเซียนที่มีน่านน้ำทะเลลึก เพื่อหาข้อมูลสมุทรศาสตร์ของทะเลลึกของประเทศแถบนี้ซึ่งมีอยู่น้อยมาก โดยใช้อวนที่ลากมีสายคร่าวอวนยาวกว่า 1 กิโลเมตร
การสำรวจครั้งนี้ได้รายชื่อปลาทะเลลึกของไทยเพิ่มขึ้น 40-50 ชนิด รวมเป็นปลาทะเลลึกของไทย 200 กว่าชนิด จากปลาทั้งหมดกว่า 3,100 ชนิดในบ้านเรา
ปลาทะเลลึกส่วนมากตัวไม่ใหญ่ มีตั้งแต่ยาว 2-3 นิ้ว ไปจนถึง 2 ฟุต ปลาใหญ่พบได้น้อย เช่น ฉลามบางชนิด นอกจากนั้นยังพบปลาทะเลตื้นหลายชนิดที่ลงไปหากินทะเลลึกได้ด้วย เช่น ฉลามหัวค้อน กระโทงแทง
ลักษณะเด่นของปลาทะเลลึกคือ ตัวน่วม ๆ นุ่มนิ่ม มีน้ำเยอะ ไม่มีถุงลม ทำให้ทนต่อแรงกดสูง ๆ ที่มากกว่าข้างบน 20-40 เท่าได้ ใต้ทะเลไม่มีแสง ทะเลที่ลึกเกิน 100 เมตรจะมืดชั่วนาตาปี แถมยังเย็นมาก อุณหภูมิราว 2-4 องศาเซลเซียส คงเท่า ๆ น้ำปั่นสเลอปี้ ปลาส่วนใหญ่มักสีดำปี๋หรือสีแดงเพื่อพรางตัว เพราะแสงสีแดงลงไปในทะเลลึกไม่ได้ ปลาหลายชนิดเรืองแสงได้เพื่อล่อเหยื่อหรือเพื่อส่งสัญญาณระหว่างคู่ตัวเอง พวกที่อยู่ในแสงเกือบมืดอาจมีตาโตมาก แต่บางชนิดก็ไม่มีตาเลย
ปลาส่วนใหญ่กินเนื้อ บางตัวกินเหยื่อขนาดใหญ่ บางชนิดกระเพาะใหญ่มาก จุได้ 3 เท่าของขนาดตัวเอง เพราะนาน ๆ จะมีเหยื่อผ่านมาสักที ต้องเก็บไว้กินหลายวันหน่อย บางชนิดปากกว้างเหมือนนกกระทุงเพื่อกวาดสัตว์น้ำเล็ก ๆ เข้าพุง และหลายชนิดกินซากจากสัตว์ทะเลที่จมลงไป โดยเฉพาะพวกปลาปากกลม ฉลามทะเลลึก
ความน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ที่บรรดาปลาหน้าตาประหลาด ทั้งที่มีปากกว้างจอมหม่ำ เขี้ยวยาว ปลามีติ่งเรืองแสง บางชนิดตัวผู้และเมียมีลักษณะต่างกันมาก เช่น ปลากบเรืองแสง ตัวผู้มีขนาดราว 5 เปอร์เซ็นต์ของตัวเมีย และคอยเกาะก้นเป็นปรสิตดูดเลือดตัวเมียกินไปตลอดชีวิต หรือปลาไหลนกปากส้อม ที่ตัวเมียปากแหลมยาว แต่ตัวผู้หัวกลมดิ๊ก
รูปปลาทะเลลึกจากน่านน้ำไทยในบทความนี้ ส่วนใหญ่ได้จากคุณศักดา อาบสุวรรณ รูปชุดนี้ผมยังไม่เคยมี ต้องขอบคุณที่ถ่ายเก็บภาพปลาเหล่านี้มาไว้อย่างดี ได้ปลาขึ้นมาสด ๆ ก็วางฉากขาวถ่ายบนเรือทันที การถ่ายภาพปลา ถ้ามัวแต่ช้าปลาจะเสื่อมสีเสื่อมสภาพลงเร็วมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีคนเห็นความสำคัญของการถ่ายภาพให้ได้ใกล้เคียงกับปลาที่ยังมีชีวิตให้มากที่สุด
นอกจากรูปของคุณศักดาแล้ว ในชุดนี้ยังมีภาพของน้อต มนตรี สุมณฑา 1 รูป กับบางรูปที่ผมไปถ่ายเองจากร้านเคนซากุ ซึ่งเป็นปลาที่นักตกปลาตกได้จากน่านน้ำลึกเกือบถึงชายแดนเกาะนิโคบาร์ และส่งมาขายที่ร้านให้คนได้ลองชิมรสชาติของปลาแปลก ๆ กัน
ดาวน์โหลดฟรี! นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 124