ชวลิต วิทยานนท์
จารุปภา วะสี สัมภาษณ์และเรียบเรียง
ตามภูมิศาสตร์โลก อ่าวไทย หรือ Gulf of Thailand เป็นส่วนหนึ่งของภูมินิเวศทะเลจีนใต้ หมายถึงพื้นที่ในทะเลตั้งแต่อ่าวไทยตอนบนที่อ่าวกอไก่ของไทยไปทางตะวันออกเฉียงใต้จนถึงสุดแหลมญวณ (แหลมก๋าเหม่า) ของเวียดนาม และสุดอ่าวด้านใต้ที่เมืองโกตาบารู ของมาเลเซีย
แต่หากกล่าวเฉพาะในน่านน้ำไทย อ่าวไทยตอนบนจะหมายถึงพื้นที่ทะเลตั้งแต่ระหว่างจังหวัดตราดถึงประจวบคีรีขันธ์ อ่าวไทยตอนกลางคือส่วนที่ต่อลงไปจนถึงสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช และจากนั้นไปทางใต้จนสุดชายแดนไทยที่นราธิวาสคืออ่าวไทยตอนล่าง
อ่าวไทย
ส่วน “ก้นอ่าวไทย” ซึ่งเป็นบ้านทั้งถาวรและชั่วคราวของบรรดาปลาในบทนี้ คือส่วนหนึ่งของอ่าวไทยตอนบน พื้นที่ชายฝั่งประกอบด้วยสี่ปากแม่น้ำใหญ่ๆ คือ เพชรบุรี แม่กลอง เจ้าพระยา-ท่าจีน และบางปะกง และระบบนิเวศสำคัญสามแห่ง ได้แก่ แม่กลอง-เพชรบุรี เจ้าพระยา-ท่าจีน และบางปะกง พื้นที่ในทะเลเริ่มจากฝั่งตะวันตกที่ปลายแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ลากเส้นสมมุติความยาวเกือบ 100 กิโลเมตร ข้ามทะเลไปถึงปลายแหลมเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี กินพื้นราว 3,200 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งส่วนที่ลึกเข้าไปในแม่น้ำถึงจุดที่น้ำทะเลเข้าไปถึง เช่น บางปะกง แปดริ้ว อัมพวา บางกะเจ้า ทั้งหมดอยู่ในภูมินิเวศแบบน้ำกร่อย คือโซนพื้นที่ที่น้ำจืดในแม่น้ำและน้ำเค็มในทะเลมีอิทธิพลต่อกันอย่างใกล้ชิด
ย้อนไปราว 70 ปีก่อน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงหมาดๆ เรือสำรวจกาลาเทีย 2 (Galathea 2) ของเดนมาร์ก ออกเดินทางระยะเวลาสองปี (พ.ศ. 2493-2495) เพื่อสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในประเทศชายฝั่งทั้งสามมหาสมุทร จากแอตแลนติกสู่มหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และกลับสู่เดนมาร์กพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ พืช และข้อมูลมานุษยวิทยาจำนวนมาก จนกลายเป็นทริปหนึ่งในตำนานระดับโลก และข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งที่กาลาเทีย 2 ค้นพบจากการวัดคาร์บอน 14 เพื่อดูความสมบูรณ์อุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลตามเส้นทางสำรวจคือ ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสุดเท่าที่สำรวจพบ
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะในพื้นที่เล็กๆ ของก้นอ่าวไทยอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่ไหลมาจากปากแม่น้ำสำคัญ 5 สาย มารวมกันในทะเลที่ถูกล้อมรอบด้วยแนวชายฝั่งที่ยาวรวมกันไม่ถึง 200 กิโลเมตร และพื้นทะเลเป็นไหล่ทวีปที่ลึกไม่เกิน 30 เมตร ธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงชีวิตใหญ่น้อยมากมายในห่วงโซ่อาหารเหล่านี้ มาจากพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำทั้งห้ารวมแล้วมากกว่า 80,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งจากป่าภาคเหนือที่เป็นต้นน้ำปิง วัง ยม น่าน ป่าตะวันตก และป่าตะวันออก อุปมาเหมือนเทข้าวสารจากรถสิบล้อลงในถังใบเล็กๆ เมล็ดข้าวย่อมเต็มถัง จนพูน และล้นแล้วล้นอีกเป็นธรรมดา กลายเป็นสารอาหารเข้มข้นที่หมุนวนหล่อเลี้ยงภายในพื้นที่และไหลเวียนตามวัฏจักรของกระแสน้ำมหาสมุทร ออกไปยังคาบสมุทรภาคใต้ ชายฝั่งกัมพูชา และเชื่อมสู่ทะเลจีนใต้
ความสมบูรณ์ขั้นสุดที่กล่าวถึงนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ผืนป่ายังเขียวชอุ่มรกชัฏ ยังไม่มีปรากฏการณ์น้ำเน่าเสียรุนแรงจากน้ำทิ้งของโรงงานและสารเคมีภาคการเกษตร เป็นช่วงเวลาก่อนที่เขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกจะสร้างกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาท เมื่อปี พ.ศ. 2495 และเขื่อนต่างๆ ทยอยสร้างขึ้นจนครบในลำน้ำทั้ง 5 สาย พร้อมกับที่ป่าต้นน้ำจำนวนมหาศาลถูกตัดโค่น สถานการณ์น้ำเน่าเสียรุนแรง การประมงแบบทำลายล้าง ฤดูกาลปรวนแปรจากสภาวะโลกร้อน และการสูญพันธุ์ของปลาหลายชนิดในแม่น้ำและทะเลไทย
20 ปีของการสำรวจปลาก้นอ่าวไทย
ที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจปลาอย่างเป็นระบบในพื้นที่อ่าวไทยมาก่อน ข้อมูลเดิมมีน้อยและกระจัดกระจาย เช่น มีที่หมอสมิธ (Hugh McCormick Smith) เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (อธิบดีกรมประมง) คนแรกของไทย เขียนถึงการพบปลาฉนากไว้ในหนังสือปลาน้ำจืดไทยเล่มแรก The Freshwater Fishes of Siam or Thailand (พ.ศ. 2488) หรือมีเอกสารวิชาการและวิทยานิพนธ์อีกเล็กน้อยและไม่ชัดเจน
ปลากระบาง เป็นปลากระเบนตัวเล็ก
งานสำรวจปลาถิ่นนี้อย่างจริงจังครั้งแรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2543 เมื่อผมได้ทุนจาก BRT (โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย) ศึกษาความหลากหลายของชนิดปลาบู่ในอ่าวไทยตอนบนในช่วงปี พ.ศ. 2543-2545 โดยเก็บข้อมูลตามป่าชายเลน หาดโคลน และปากแม่น้ำ ตั้งแต่ตราดจนถึงเพชรบุรี เนื่องจากความหลากหลายของชนิดปลาบู่สามารถเป็นตัวชี้วัดสุขภาพถิ่นอาศัยของมันได้ ผลสำรวจรอบนั้นพบปลาบู่เกือบ 50 ชนิด ซึ่งถือว่ามากพอสมควร มีตั้งแต่ตัวเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย จนถึงตัวโตๆ อย่างปลาตีนและปลากระจัง และจากการสำรวจต่อมาจนถึงปัจจุบัน พบปลาบู่ที่อ่าวไทยทั้งหมดราว 55 ชนิด
ปลาฉนาก Pristis pristis สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยแล้ว
นอกจากสำรวจปลาบู่แล้ว ผมเก็บข้อมูลสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย ทั้งกุ้งหอยปูปลา เรียกว่าเก็บทุกอย่างที่ขวางหน้าก็ได้ แหล่งสำรวจก็หลากหลาย คือทุกที่ที่เข้าถึงได้ ตั้งแต่ออกไปกับเรือประมงชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรืออวนรุนขนาดเล็กที่ออกตอนกลางวันไปรุนเคยหรือจับปลากระตัก ออกไปตามโพงพางหรือโป๊ะที่เขากำลังกู้สดๆ ถ้าได้ปลาบู่หรือปลาแปลกๆ เราก็เก็บมา สำรวจตามแพขายส่งปลา แผงปลาในตลาดสดตอนเช้าและตลาดนัดตอนเย็น แม้แต่ขอแบ่งปลาจากนักตกปลาตามสะพานข้ามแม่น้ำ หรือชาวบ้านที่ถือกระป๋องเดินหาปูหาหอยตามชายหาด ทุกที่ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี และมีลุ้นทุกครั้งว่าจะเจออะไรที่ยังไม่เคยเจอบ้างไหม
ปลาหัวโขน
ในช่วงปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ผมเกษียณจากงานประจำที่ MRCS ประเทศลาว และได้กลับมาสำรวจชายฝั่งย่านนี้บ่อยๆ อีกครั้ง แหล่งข้อมูลสำคัญที่เพิ่มเข้ามาปีท้ายๆ คือข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ทั้งจากไลน์กลุ่มและเฟซบุ๊กของเพื่อนๆ ที่เต็มไปด้วยนักวิชาการ นักสำรวจ และคนที่สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ในกลุ่มเฉพาะต่างๆ และข้อความที่ส่งมาสอบถามโดยตรงเวลาเจอตัวอะไรแปลกๆ ข้อมูลที่ป๊อบอัปขึ้นมาตรงนั้นตรงนี้กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ มากมายให้ได้ตรวจสอบและเก็บสะสม
อย่างล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ มีคนโพสต์เฟซบุ๊กว่าเจอปลาตัวหนึ่งในวงศ์ปลาตั๊กแตนหินที่ริมน้ำแถวปทุมธานี แม้จะไม่ใช่ปลาหายาก แต่ก็เจอไม่ง่าย เพราะเป็นปลาตัวเล็กที่ชอบซุกอยู่ตามโพรงไม้ และยังไม่เคยมีบันทึกแบบเป็นทางการว่าพบในเขตนี้มาก่อน ผมเชื่อว่าโพสต์นั้นเป็นข้อมูลจริง เพราะตามธรรมชาติแล้วเจ้าปลาตัวนี้เป็นปลาน้ำกร่อย ที่บางกระเจ้าก็คงมีตัวแต่ไม่มีรายงานเหมือนกัน มีคนเข้ามาคอมเมนต์ด้วยว่า เคยจับได้ที่ท่าน้ำวัดพระแก้ว แต่เมื่อไม่มีรูปถ่ายยืนยันก็ต้องละไว้ก่อน
ตลาดเช้าบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ฮอตสปอตที่ผมลงพื้นที่สำรวจบ่อยในช่วงนี้คือที่ปากน้ำบางปะกงและเพชรบุรี เพราะที่ปากน้ำท่าจีน เจ้าพระยา และแม่กลองเหลือปลาพื้นถิ่นน้อยลงมาก ปลาส่วนใหญ่ในตลาดย่านนั้นมาจากนอกพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าสุขภาพของแม่น้ำบางปะกงและเพชรบุรียังดีกว่าแม่น้ำอีกสามสายที่น้ำเน่าใหญ่แทบทุกปี แต่ละครั้งมีปลาตายจำนวนมาก และปลาที่เปราะบางก็มักตายจนหมด เช่น ปลากะโห้ ปลายี่สก ที่สูญพันธุ์ไปจากแม่กลอง เพราะน้ำเน่าจากโรงงานน้ำตาลและโรงงานอุตสาหกรรมในราชบุรี ส่วนปลากระเบน แม้จะตายมากแต่ก็ยังพอมีเหลือ เพราะบางส่วนว่ายหนีออกทะเลได้ นอกจากนั้นในลุ่มน้ำแม่กลองยังมีเขื่อนนับสิบแห่ง ซึ่งทำให้ธาตุอาหารในแม่น้ำลดลง และกีดขวางการกระจายตัวอย่างอิสระของสัตว์ตามลำน้ำ
ปลากะตัก แหล่งอาหารตัวเล็ก
ในรอบยี่สิบปีของการสำรวจนี้ พบว่าปลาก้นอ่าวไทยน้อยลงมากทั้งชนิดและปริมาณ ปลาหลายอย่าง เช่น ปลาหางกิ่ว ปลากระเบนธง ที่เมื่อก่อนหาไม่ยากและมีวางขายเต็มตลาด แต่ปัจจุบันพบน้อยมาก ถ้ามีมาถึงแผงก็ขายหมดในพริบตา ปลาน้ำจืดและทะเลหลายชนิด ปลาฉนาก และปลาฉลามบางชนิดหายไป และไม่เคยพบอีก กุ้งหอยปูน้อยลง และกุ้งส่วนใหญ่มาจากบ่อเลี้ยง
แต่ถ้ามองในภาพรวม คุณภาพน้ำก้นอ่าวไทยก็ยังพอใช้ได้ แต่ต้องดูแลปัญหามลพิษที่เกิดเป็นครั้งคราว แม้จะเจอชนิดปลาโดยรวมน้อยลง แต่ในพื้นที่ก็ยังมีปลาตระกูลกระเบนและฉลาม ผู้ล่าข้างบนของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำที่ดีและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะที่แม่น้ำบางปะกง
…อ่านต่อตอนหน้า
*บทความนี้เขียนในโอกาสการตีพิมพ์หนังสือ “พรรณปลาปากแม่น้ำของก้นอ่าวไทยตอนใน” โดยกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม