ชวลิต วิทยานนท์
จารุปภา วะสี สัมภาษณ์และเรียบเรียง
เมื่อกว่า 50 ปีก่อนคนเกือบทั้งโลกเคยเชื่อว่า กุ้งหอยปูปลาในทะเลจะเกิดให้เราจับกินได้ไม่มีวันหมด จนมีประโยคว่า “Seas never exhaust.” แต่ปัจจุบันของในทะเลมีเกือบไม่พอให้คนกินแล้ว ความเป็นจริงในวันนี้จึงกลายเป็น “Our exhausted seas.”
ปลาเกือบ 400 ชนิดที่สำรวจพบในรอบ 20 ปีนี้ อาจมีบางชนิดที่หาไม่พบอีกแล้วในวันนี้ หรือหากย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน ถ้าในเรือกาลาเทีย 2 มีคนบ้าๆ แบบผมอยู่ด้วย และกองสำรวจปล่อยคนแบบนี้ไว้ให้ตระเวนเก็บตัวอย่างปลาจนถึงปัจจุบัน ผมว่าเขาอาจพบปลาก้นอ่าวไทยได้ถึง 400-500 ชนิด
ถ้าจะลองเลือกปลาสักชนิดให้เป็นตัวแทนพื้นที่นี้ ผมยกให้ “ปลาทู” เป็นปลาที่เด่นที่สุด และเป็นความมั่นคงทางอาหารสำคัญที่เลี้ยงดูคนกรุงเทพฯ และภาคกลางมายาวนาน
รูปปลาทู โดย นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ
ใครๆ ก็บอกว่าปลาทูไทย โดยเฉพาะปลาทูแม่กลอง เนื้อมันและอร่อยที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเทียบกับปลาทูตัวโตจากอินเดีย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม หรือปลาทูตัวอ้วนจากปากแม่น้ำโขง ความอร่อยของปลาเป็นผลโดยตรงจากคุณภาพน้ำ เคยมีการจัดทดลองชิมปลาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น เขาพบว่าถ้าแม่น้ำคุณภาพดี ไม่มีการสร้างเขื่อน น้ำไม่เน่าเสียและไม่ถูกรบกวน ปลาที่นั่นจะดีทั้งคุณภาพและรสชาติ
น่าเสียดายที่ตอนนี้ปลาทูของเราเหลือน้อย ตัวเล็กลง และคุณภาพไม่ดีเท่าเดิม ซึ่งก็เป็นไปตามคุณภาพของถิ่นอาศัย เมื่อก่อนปลาทูย่านนี้ส่งขายได้ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันปลาทูในตลาดบ้านเรากว่าร้อยละ 60 นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างปลาทูเมืองชล แค่ขายในตลาดหนองมนก็ไม่พอแล้ว ต้องจองกับแม่ค้าที่รู้จักกันถึงจะได้กิน เช่นเดียวกับปลาธรรมชาติอื่นๆ ที่พอกินในพื้นที่รอบแหล่งจับเท่านั้น
ที่ผ่านมากรมประมงพยายามป้องกันไม่ให้ปลาทูสูญพันธุ์ ด้วยการออกมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง แถวหมู่เกาะอ่างทองและอ่าวประจวบในฤดูปลามีไข่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เพื่อป้องกันไม่ให้แม่ปลาถูกจับไปจนหมด แต่จำนวนปลาทูก็ยังไม่เพิ่ม ปัญหาที่พบก็คือ เมื่อฝูงลูกปลาทูตัวเท่าปลายก้อยออกจากไข่ว่ายไปอยู่กลางทะเลนอกโซนปิดอ่าว ก็ถูกกองเรืออวนล้อมส่องไฟจับปลากะตักตอนกลางคืนจับไปพร้อมปลากะตัก เอามาตากแห้งขายเป็นถุงๆ เรียกปลาทูแก้วบ้าง ปลาทูเล็กบ้าง ปลาทูมันบ้าง ถุงหนึ่งมีลูกปลาทูราวสองร้อยตัว หรือลูกปลาอื่นๆ อย่างปลาสาก ปลาน้ำดอกไม้ ปลาอินทรี ที่ปกติที่ควรบริโภคต้องตัวใหญ่เท่าแขนเท่าขา ก็ถูกจับมาตอนตัวไม่ถึงคืบ และกลายเป็นของทิ้งอยู่ตามแพปลา คิดเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เทียบไม่ได้เลยกับการปล่อยให้ลูกปลาโตเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งถ้าจะอนุรักษ์ให้เห็นผล กรมประมงควรห้ามการส่องไฟจับปลาตอนกลางคืน โดยเลิกเกรงใจเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
แม้ปลาธรรมชาติที่น้อยลงเรื่อยๆ จะแสดงถึงความอ่อนล้าของทะเลอย่างรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้น กุ้งหอยปูปลาจากก้นอ่าวไทย รวมกับผลิตอื่นๆจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแม่น้ำและชายฝั่ง โดยเฉพาะกุ้ง หอยแครง และหอยแมลงภู่ ก็ยังมีเพียงพอส่งขายได้เกือบทั่วประเทศ และเลี้ยงดูผู้คนอยู่ 20-30 ล้านคน ทั้งหล่อเลี้ยงให้มีอาชีพ มีอาหาร และเป็นความมั่นคงสำคัญของประเทศ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรเข้าใจคือ อ่าวไทยตอนในซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์การค้าใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯเพียงไม่กี่กิโลเมตรนี้ ยังมีของดีมากมาย เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเป็นระบบนิเวศที่เปราะบางมาก ไม่ใช่เป็นแค่อ่าวโคลนที่มีแต่ตึกรามบ้านช่อง น้ำเน่าๆ และมีวาฬว่ายไปว่ายมาไม่กี่ตัว
นอกจากที่นี่จะเป็นบ้านของปลาที่เล็กที่สุดคือ ปลาบู่ใสที่ตัวเท่าปลายก้อย จนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือวาฬ ชายฝั่งก้นอ่าวไทยยังเป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ (900,000 ตัน) เป็นเส้นทางอพยพและพักพิงของนกชายเลนที่สำคัญระดับโลกใน East Asian–Australasian Flyway โดยประชากรนกอพยพของโลกมากกว่าร้อยละ 1 ต้องแวะพักที่นี่ รวมทั้งนกทะเลแปลกๆ หลายชนิด และนกใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลกอย่างนกชายเลนปากช้อน นอกจากนั้น ในป่าชายเลนบางแห่งยังเป็นถิ่นอาศัยของเสือปลา ที่วันนี้อาจมีประชากรของไทยน้อยกว่าเสือโคร่งแล้ว
การสำรวจทางอนุกรมวิธานอย่างจริงจังและต่อเนื่องยังจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดูแลรักษาถิ่นอาศัยร่วมกัน ทั้งของสัตว์ พืช และมนุษย์อย่างยั่งยืน การสำรวจพรรณปลาในพื้นที่เล็กๆ ของก้นอ่าวไทยน่าจะเหลือข้อมูลให้ค้นพบเพิ่มอีกราวร้อยละ 5-10 ผมอยากชวนคนที่นึกสนุกกับเรื่องนี้มาช่วยกันเติมเต็มความรู้ รวมทั้งช่วยกันสำรวจพรรณปลาในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศที่น่าจะยังขาดข้อมูลอีกราว 1 ใน 3 ทีเดียว โดยเฉพาะปลาในป่าต้นน้ำ น้ำตก พรุ ทะเลลึกและแนวปะการัง ซึ่งต้องใช้ความพยายาม เวลา และงบประมาณจำนวนมากในการออกสำรวจแต่ละครั้ง ทั้งยังต้องเตรียมใจด้วยว่าอาจกลับมามือเปล่า เพราะโอกาสที่ดีจะไม่รอให้เราลังเลแม้นาทีเดียว รูปถ่ายและตัวอย่างปลาซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สุดอาจปรากฏขึ้นต่อหน้าเราเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิต และหลายครั้งก็เป็นเรื่องของโชค ที่ทำนักสำรวจคนหนึ่งให้ได้ไปอยู่ที่นั่น ณ เวลานั้น
ปลากระบอกเทาหรือปลายะ Mugil cephalus
อย่างวันหนึ่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 ผมจ๊ะเอ๋เข้ากับเจ้าปลากระบอกเทาหรือปลายะ Mugil cephalus ตัวโตที่แพปลาป้าทุม (ประทุมอาหารทะเล) ที่บ้านบางแก้ว บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ผมเพิ่งเข้าแพป้าทุมครั้งแรก จะถือกล้องขอค้นปลามาถ่ายรูปเดี๋ยวป้าจะตกใจ เลยไปนั่งเลือกปลาแปลกๆ จากกองปลาเป็ดก่อน วันนั้นป้าทุมได้ปลาเยอะมาก ชาวบ้านเอามาเทลงกอง ชั่งน้ำหนัก แล้วป้าก็แพ็กเตรียมส่งต่อทันที ผมหันไปเห็นปลาตัวโตหน้าแปลกๆ ตัวนึงถูกเทลงจากเข่ง ลุกไปดูเร็วๆ ก็รู้ว่าคือปลากระบอกเทา ซึ่งมีมากในญี่ปุ่นและจีน ส่วนในไทยพบเป็นครั้งคราวในย่านชุมพรถึงสงขลา แต่ไม่เคยมีบันทึกว่าพบในอ่าวไทยตอนบนมาก่อน โชคดีที่รถจอดอยู่ใกล้ๆ คนขับรถก็ยังไม่ได้ไปไหน ผมวิ่งไปเอากล้องมาถ่ายรูปไว้ได้ทัน เพราะไม่ถึงนาทีเจ้าปลาตัวนั้นก็ถูกขนไปแล้ว ยิ่งปลาตัวใหญ่ ราคาดี ยิ่งไม่มีใครยอมเสียเวลา ผมว่านั่นคงเป็นโอกาสเดียวที่จะได้บันทึกว่ามีปลาชนิดนี้อยู่ที่นี่ เพราะหลังจากนั้นผมก็แวะไปหาป้าทุมอีกเป็นสิบครั้ง แต่ไม่เห็นปลาชนิดนี้อีกเลย และไม่เคยพบในการสำรวจก้นอ่าวไทยที่อื่นด้วย
นาทีประวัติศาสตร์ที่ได้พบปลากระบอกเทาจากก้นอ่าวไทยเป็นครั้งแรก
ผมอยากขอบคุณผู้คนมากมาย ทั้งชาวประมงและชุมชนประมงที่มีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก ศูนย์และสถานีวิจัยประมงหลายแห่ง เพื่อนเก่าๆ สมัยนั้น ทั้งหัวหน้าสถานีและเพื่อนร่วมงานที่เดี๋ยวนี้เกษียณไปหลายคนแล้ว เพื่อนนักสำรวจและนักอนุรักษ์ที่คอยชี้เป้าข้อมูล แพปลา และพ่อค้าแม่ค้าปลาหลายคนในตลาด ทั้งที่ใจดีและชอบเหวี่ยงเพราะรำคาญที่ผมไปเกะกะ ที่ไปบ่อยๆ ช่วงปีท้ายๆ ก็มี แพเจ๊แจ๋ว เจ๊แมว และเจ๊แต๋ว ที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และแพป้าทุม แม่ทองฟู และพี่อ้วน ที่บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงอีกหลายท่านที่เอื้อเฟื้อให้ใช้หรือให้ถ่ายรูปปลาที่หาได้ยากและสวยๆ เช่น คุณนณณ์ ผาณิตวงศ์ คุณทัศพล กระจ่างดารา คุณทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา คุณนันทวัฒน์ โชติสุวรรณ กลุ่ม Thaiwhale คุณกำพล อุดมฤทธิรุจ คุณวิชา นรังสี อาจารย์ภาสกร แสนจันแดง คุณธนิสร วศิโนภาส คุณ Vansawat Sawatlong ทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการเห็นคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่นี้
ช่องว่างของความรู้สำคัญที่ควรเร่งมือทำทันทีคือการสำรวจและประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจากผลผลิตทางทะเลของอ่าวไทยตอนใน ว่าสัตว์น้ำทั้งที่จับและเพาะเลี้ยงได้มีปีละกี่ตัน ส่งไปขายถึงไหนบ้าง หล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนเท่าไร และคิดเป็นมูลค่าเท่าไร ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ การจะทำโครงการ แผน หรือนโยบายใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ไปในทางที่แย่ลง จึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง เช่น สร้างเขื่อนปิดปากอ่าว สร้างโครงสร้างพื้นฐานแข็งๆ ที่เปลี่ยนระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งการเปลี่ยนพื้นที่ทะเลเป็นแหล่งน้ำจืดหรือกำแพงกั้นน้ำท่วม การเข้าใจความจริงจะทำให้กำหนดนโยบายที่ถูกต้อง เพื่อความสมบูรณ์ ยั่งยืน และเกิดมูลค่าเพิ่มต่อทรัพยากร ให้สมกับคุณค่ามหาศาลที่มีอยู่ในก้นอ่าวไทย
* บทความนี้เขียนในโอกาสการตีพิมพ์หนังสือ “พรรณปลาปากแม่น้ำของก้นอ่าวไทยตอนใน” โดยกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม