ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงนิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนจะเป็นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงมาก มีทั้งอากาศร้อนชื้น ฝนตก และบางครั้งมีลมหนาว ช่วงอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เด็กและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงนิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาหารหรือพืชผักที่ควรรับประทานในฤดูนี้ ควรจะเป็นผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย โดยอาจเลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพื่อป้องกันโรคหวัด ไข้หวัด หรือโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งบางครั้งหากเกิดโรคหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วไม่ดูแลรักษาให้ดี อาจเรื้อรังทำให้เกิดปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบได้ ตัวอย่าง อาหารที่มีวิตามินสูงที่แนะนำให้รับประทานส้มชนิดต่าง ๆ เช่น มะนาว มะขาม สตรอว์เบอร์รี่ ฝรั่ง หรือผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ ที่หาได้ตามฤดูกาล ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ผักคะน้า ปวยเล้ง บล็อคโคลี่ พริกหยวก และผักใบเขียวต่าง ๆ นำมาประกอบอาหารหรือล้างให้สะอาดแล้วรับประทานสด
นอกจากนี้ ยังมีอาหารสมุนไพรไทยที่ควรกินเพื่อเพิ่มธาตุไฟให้ร่างกายอุ่นในช่วงหน้าฝน ได้แก่ อาหารที่ประกอบด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น หอม กระเทียม กระชาย ขิง ข่า ตระไคร้ ใบกะเพรา ส่วนเมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ ต้มยำ หรือ ยำต่าง ๆ ที่มีผักสดและใช้น้ำมะนาว น้ำมะขาม แต่งรสเปรี้ยว แกงเลียง ผักหลากหลายชนิด น้ำพริกสมุนไพร ปลานึ่งสมุนไพร ผัดผักคะน้า ผัดผักบล็อคโคลี่ ส่วนเมนูของว่าง แนะนำ บัวลอยน้ำขิง น้ำผักสมุนไพร น้ำมะขาม น้ำมะนาว หรืออาหารทานเล่น เช่น เมี่ยงคำ อาหารที่ประกอบไปด้วยเครื่องเทศรสเผ็ดร้อน นอกจากจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานแล้วยังช่วยให้จมูกโล่งเมื่อเป็นหวัดได้ด้วย และในส่วนของผลไม้รสเปรี้ยวยังสามารถช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอได้อีกด้วย
ในช่วงฤดูฝนนอกจากการดูแลในเรื่องอาหารที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพแล้ว การดื่มน้ำ การออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดี