เรื่องโดย สิรัส สุลัญชุปกร
อาหารที่ได้รับการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพกำลังได้รับความสนใจและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมักแบบแม่นยำ (precision fermentation) ที่ใช้จุลินทรีย์ในการผลิตโปรตีนทางเลือก เอนไซม์ สารแต่งกลิ่น และวิตามิน ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในระบบการผลิตอาหาร ถือเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ดังนั้นการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพตามหลักเกณฑ์สากลจึงมีความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่พัฒนามามีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค
จากความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของอาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าว ผนวกกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาหลักเกณฑ์ด้านเทคนิคและสร้างขีดความสามารถด้านการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดย สวทช.มีหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติในการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของโครงการมาตรฐานอาหารเอฟเอโอ/ดับเบิลยูเอชโอ (Codex Alimentarius Commission, Joint FAO/WHO Food Standards Programme) รวมทั้งทำหน้าที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารเพื่อสนับสนุนการการพิจารณาของ อย. ปัจจุบันดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564-2569) แล้ว
ดร.ชาลินี คงสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การดำเนินงานภายใต้ MOU ในระยะที่ 1 และ 2 (พ.ศ. 2553–2565) ได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติในการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม โดย อย. นำไปประยุกต์ใช้พัฒนามาตรการเชิงกฎระเบียบสำหรับกำกับดูแลความปลอดภัยของอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้อาหารจีเอ็มโอต้องได้รับการประเมินความปลอดภัยและได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนจึงจะผลิต นำเข้า และจำหน่าย โดยมีไบโอเทคทำหน้าที่ประเมินความปลอดภัยและออกรายงานผลการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพด้านอาหารให้ผู้ประกอบการนำไปยื่นต่อ อย. ผ่านระบบ e-submission ปัจจุบันมีอาหารจีเอ็มโอผ่านการประเมินความปลอดภัยมาแล้วกว่า 120 รายการ”
แนวทางการยื่นเอกสารและหลักฐาน
ที่มา : https://food.fda.moph.go.th/faqs/category/faq-gmo-label
จากผลสำเร็จของกิจกรรมภายใต้ MOU ระยะที่ 1 และ 2 สามารถพัฒนาหลักเกณฑ์ประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมจนเกิดเป็นกฎระเบียบสำหรับกำกับดูแลความปลอดภัย โดยมีไบโอเทคทำหน้าที่ประเมินความปลอดภัย ผนวกกับอาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง MOU ระยะที่ 3 จึงขยายขอบเขตความร่วมมือด้านวิชาการจากเดิมที่เป็นเฉพาะเรื่องอาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรืออาหารจีเอ็มโอ เป็นอาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น เช่น โพรไบโอติก อาหารใหม่จากการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์
ปัจจุบันไบโอเทคทำหน้าที่เป็นหน่วยประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ได้แก่ อาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เอนไซม์สำหรับใช้ในการผลิตอาหาร วัตถุเจือปนอาหาร/ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อ จุลินทรีย์โพรไบโอติก อาหารใหม่จากจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม และอาหารใหม่จากการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์ ให้แก่ อย. เพื่อให้การผลิตและจำหน่ายอาหารกลุ่มดังกล่าวมีความปลอดภัยและตอบสนองความต้องการ ทั้งด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ประกอบการหรือองค์กรที่สนใจรายละเอียดและต้องการรับบริการประเมินความปลอดภัยของอาหารจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ติดต่อได้ที่ฝ่ายความปลอดภัยทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 6700