สถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเด็กไทยติดอันดับปริมาณเด็กอ้วนเพิ่มเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากการบริโภคอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน รวมถึงการบริโภคอาหารสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อโรค NSDs อาทิ โรคอ้วน และเบาหวาน ดังนั้นประชาชนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับชนิดและปริมาณสารอาหารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกรับประทาน โดย “FoodChoice” คือหนึ่งในแอปพลิเคชัน ที่จะช่วยให้การอ่านข้อมูลทางโภชนาการของอาหารแต่ละชนิดง่ายขึ้น
ดร.สาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ. ร่วมกับกระทรวง อว. โดย สวทช. เนคเทค ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. คิดค้นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประชาชนเลือกผลิตภัณฑ์อาหารได้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย โดยแอปพลิเคชัน FoodChoice ที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้สแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ เพื่ออ่านข้อมูลทางโภชนาการในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย มีการจำแนกเป็นสีที่แสดงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน
“1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด 2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก ซึ่งหากผู้ใช้สแกนแล้วไม่พบข้อมูล ก็สามารถถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบ และเลข อย. 13 หลัก เพื่อช่วยเพิ่มเติมข้อมูลในแอปพลิเคชันให้ทันสมัยและครบถ้วนได้อีกด้วย”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาที่ไทยเผชิญไม่ใช่เรื่องขาดสารอาหารเหมือนอย่างเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว เพราะกราฟเด็กไทยอ้วนกำลังเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว โดยภาพรวมเด็กในเมืองจะอ้วนมากกว่าเด็กนอกเมือง เพราะมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำกิจกรรมนั่งหน้าจอเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังถูกดึงดูดจากการทำการตลาดของบริษัทขนมขบเคี้ยว จึงเห็นถึงความสำคัญว่าควรเสริมความรู้ในเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าถึงและทำความเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้เกิดความเท่าทัน โดย สสส. และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ได้เริ่มขยายผลผลักดันให้เกิดการใช้แอปพลิเคชัน FoodChoice ภายในโรงเรียน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กในวัยเรียน ให้มีความรู้และมีทักษะทางด้านสุขภาพมากขึ้นแล้ว”
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า การสร้างแอปพลิเคชัน FoodChoice ขึ้น เป็นหนึ่งในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประโยชน์แก่คนหมู่มาก โดยเป็นการสร้าง Big data analytics platform ที่เชื่อมโยงข้อมูลอาหารและโภชนาการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย รวมถึงรัฐสามารถนำข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายส่งเสริมสุขภาพได้อย่างตรงเป้า
ทางด้าน นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการคณะ กก.การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เด็กจำนวน 7 ล้านคนในสังกัด รร. สพฐ. มีโทรศัพท์มือถือใช้ ดังนั้นแอปพลิเคชัน FoodChoice จะสามารถขยายตัวการใช้งานได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
เรียบเรียงจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/79989