นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 – 2563 สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International Association for Suicide Prevention) ได้กำหนดใช้คำขวัญในการรณรงค์ว่า “รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย” (Working Together
to Prevent Suicide)
ดอกไม้ “สะมาเรีย” หรือ “บัวดิน” เป็นสัญลักษณ์วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ซึ่งสื่อความหมายถึงมิตรภาพ และความหวังใหม่ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนมนุษย์ เพียงการ “รับฟัง” ให้มากขึ้น สามารถช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยผู้รับฟังอาจเป็นอาสาสมัคร หรือใครก็ได้รอบตัวเราที่พร้อมรับฟังด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราแค่รู้จัก “ฟังเสียงของตัวเอง” แล้วสามารถซ่อมแซมเยียวยาความรู้สึก และสร้างกำลังใจให้ตัวเอง พร้อมเดินหน้าสู้ชีวิตต่อไปได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน Corporate Innovation Summit (CIS 2020) ซึ่งเป็นเวทีโลกที่รวบรวมผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติมาเสนอในการจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Conference) โครงการสร้างสรรค์แอปพลิเคชัน “Four Voices App” หรือ “4 เสียงของตัวเอง” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ได้รับการคัดเลือกจาก สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ให้เข้าร่วมเสนอผลงานในงานดังกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง เปิดเผยว่า การสื่อสารเพื่อคลายเศร้าในทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยหลักการ “C-L-E-A-R” ซึ่ง “C” คือ Conscious หรือ การตั้งสติ “L” คือ Listening หรือ การฟังจากใจ “E” คือ Empathy หรือ การช่วยด้วยใจ “A” คือ Active หรือ การชวนขยับ และ “R” คือ Relaxing หรือ การผ่อนคลายจิตใจ และหากเราได้ฟัง “4 เสียงของตัวเอง” จะทำให้เราเกิดความคิดบวก เพื่อสร้างพลังในการดำเนินชีวิตที่ดีงามต่อไปได้ ซึ่งประกอบด้วย 1.เสียงแห่งความสุข 2.เสียงแห่งสัญญาณสุขภาพ 3.เสียงแห่งความรัก และ 4.เสียงแห่งสติ
โดย “Four Voices App” เป็นหนึ่งใน “โปรแกรมรักษาคนดี” ซึ่งเป็นเพจของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองได้ด้วยตัวเอง ผ่านกิจกรรมบำบัดออนไลน์ที่ได้รับการดูแลและให้คำปรึกษาโดยตรงจากนักกิจกรรมบำบัด
ตัวอย่างกิจกรรมเสียงรักษาใจในเพจ “โปรแกรมรักษาคนดี” คือ การให้ได้ลองส่งข้อความโดยกดบันทึกเสียงเพื่อนำมาทดสอบเปอร์เซ็นต์ความคิดบวก โดยเลือกข้อความที่พูดให้กำลังใจตัวเองไม่เกิน 10 คำ เป่าลมหายใจออกทางปากยาวๆ ช้าๆ สัก 8 ครั้ง แล้วคลิกกดปุ่มไมโครโฟนที่กล่องส่งข้อความ พูดข้อความที่เลือกไว้สัก 6 รอบ แล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง จะตอบกลับไปว่า เปอร์เซ็นต์ความคิดบวกเป็นเท่าไหร่ และควรปรับข้อความอย่างไรให้คิดบวกมากขึ้น
“Four Voices App” นอกจากจะเป็นแอปพลิเคชันที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้ได้บำบัดเศร้าจากการฟังเสียงของตัวเองแล้ว ยังสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้าง “Sound Therapist” ซึ่งอาจเป็นอาสาสมัครที่ทำหน้าที่ช่วย “รับฟัง” และ “พูดให้กำลังใจ” เสริมพลังบวกให้กับผู้ที่กำลังอยู่ภาวะซึมเศร้าไม่ให้คิดฆ่าตัวตาย ให้ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยสติ ด้วยเสียงบำบัดที่ใช้เทคนิคการใช้เสียงที่เหมาะสม ซึ่งสามารถวัดผลที่มีต่อคลื่นสมองได้ โดยกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำคลังข้อมูลเสียง สรรหาทุน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในการร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพต่อไป
ติดตามความคืบหน้าของการสร้างสรรค์ “Four Voices App” และร่วมกิจกรรมเสียงรักษาใจ เพื่อรวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย เนื่องใน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” ได้ที่เพจ “โปรแกรมรักษาคนดี” FB: https://www.facebook.com/KeepGoodMen/
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210