สนับสนุนเยาวชนเรียนวิทย์ สู่การค้นพบสิ่งใหม่ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

          แม้เทคโนโลยีจะทำให้ปากกาแบบเดิมทดแทนได้ด้วยปากกาดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังคงมีการใช้ 2 แบบควบคู่กัน ปากกาแบบเดิมจึงยังคงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิด “ลายเซ็นเปลี่ยนโลก” ได้

          และในขณะที่จากเดิมที่เคยใช้ปากกาหมึกซึมที่ลบไม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้เกิดปากกาหมึกซึมที่ลบได้ ซึ่งถูกนำออกจำหน่ายในชื่อทางการค้าว่า Frixion ในปี 1975 ทำให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกมากขึ้น โดยที่ปากกาลบได้ยังมีการพัฒนาด้านเทคนิค และสารเคมีที่ใช้จนได้ปากกาลบได้ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน

          รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเมธีนักวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2565 ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ได้อธิบายในเชิงวัสดุศาสตร์ถึงหลักการของ “ปากกาลบได้” ว่า หมึกที่สามารถลบได้นั้นมีหลายประเภท บางประเภทใช้การยึดเกาะที่สามารถหลุดจากพื้นผิวได้ บางประเภทลบออกได้ด้วยสารละลาย หรือน้ำ

          แต่แบบที่นิยมมากที่สุดที่ใช้ในปากกาลบได้ จะเป็นคอมโพสิตที่ประกอบไปด้วยสารเคมีที่ถูกเก็บอยู่ในแคปซูลจิ๋ว และในขณะที่เกิดการลบ ตัวหมึกจะถูกความร้อนที่ได้จากการขัดถู พลังงานจะถ่ายเทไปที่แคปซูลจิ๋ว ทำให้สารเคมีในแคปซูลทำปฏิกิริยาให้สีในตัวหมึกหายไป วิธีนี้เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์หลอกตาไม่ให้ผู้ใช้มองเห็นตัวหมึกที่ซ่อนอยู่

          แม้ด้วยเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ใช้ได้มีทางเลือกมากขึ้น จากการทำให้ปากกาที่ในอดีตเคยลบไม่ได้ สามารถแก้ไขการจดบันทึกได้ตามต้องการด้วยหมึกที่ลบได้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำเตือนถึงข้อควรระวังที่ไม่แนะนำให้ใช้กับเอกสารสำคัญ ซึ่งได้แก่ เอกสารทางการเงิน และทางกฎหมาย เพราะอาจมีข้อโต้แย้งในเรื่องการถูกลบและเปลี่ยนแปลงได้ และนอกจากนั้น หมึกจากบางแบรนด์ยังสามารถเห็นร่องรอยการเขียนก่อนการลบได้โดยการเปลี่ยนอุณหภูมิพื้นผิวของกระดาษ

          สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการการออกแบบอุปกรณ์โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการทำ Micro/Nano Encapsulation รวมถึงการทำ Thermochromic Chemical ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีการนำไปใช้งานที่หลากหลาย อาทิ แผ่นสติกเกอร์บอกคุณภาพอาหารแช่แข็ง แผ่นเซนเซอร์อุณหภูมิสำหรับพัสดุที่ต้องควบคุมคุณภาพของการจัดส่ง หรือแม้กระทั่งวัสดุต่างๆ ที่ต้องการให้มีเปลี่ยนแปลงสีไปมาได้ เป็นต้น

          โดยที่ในมหาวิทยาลัยมหิดลมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการทำหมึกเปลี่ยนสีได้ เป็นต้น โดยที่ผู้ที่สนใจงานด้านการนำนวัตกรรมไปใช้งานสามารถติดต่อ School of Materials Science and Innovation คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้

          มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเปิดบ้านต้อนรับน้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจวิทยาศาสตร์ และวิชาความรู้สู่วิถีใหม่ในดำเนินชีวิตในโลกแห่งอนาคตที่ท้าทายต่างๆ สู่งาน “เปิดบ้านมหิดลวิชาการ” ประจำปี 2566 (Mahidol University Open House 2023) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Ignite the Future”

          ร่วม “ค้นหาสิ่งที่ชอบ ในคณะที่ใช่” ได้ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 16 – 17 กันยายน 2566 ลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ – 9 กันยายน 2566 ทาง https://openhouse.mahidol.ac.th


ภาพโดย
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author