เรื่องโดย ป๋วย อุ่นใจ
ภาพหนึ่งภาพบอกเรื่องราวได้นับร้อยพัน หลายภาพจุดประกายจินตนาการให้โลดแล่น ทั้งสร้างฝัน ทำให้หลายคนเริ่มได้ไอเดียสร้างสรรค์ ผมคือคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายภาพมาก แม้ตอนนี้ส่วนใหญ่จะเน้นใช้มือถือถ่ายแนวเฮฮาปาร์ตี เซลฟีทำร้ายตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนสมัยเด็ก ๆ ก็เคยแบกกล้อง D-SLR ฝึกถ่ายภาพแบบซีเรียสอยู่หลายปี ถ้าแปลตรงตัว คำว่า โฟโตกราฟี (photography) จะแปลว่า การวาดภาพด้วยแสง โฟโตกราเฟอร์หรือช่างภาพจึงไม่ต่างจากจิตรกรที่ใช้แสงและเลนส์กล้องเพื่อรังสรรค์งานศิลปะที่วิจิตรพิสดาร
การถ่ายภาพทำให้ผมมีมุมมองต่อโลกเปลี่ยนไป ทุกสิ่งในโลก มีมุมที่สวยงามเสมอ ถ้าเรามองเข้าไปให้ลึกซึ้งพอ เราจะหามันเจอ สำหรับผม ช่างภาพที่เก่งนอกจากจะต้องถ่ายภาพได้สวยแล้ว ยังต้องสื่อความหมายหรือสะท้อนอารมณ์บางอย่างออกมาได้อีกด้วย ทอม โพธิสิทธิ์ คือหนึ่งในช่างภาพฝีมือดีที่ผมชื่นชม และมีโอกาสได้รู้จัก ภาพถ่ายแฟชั่นไฟน์อาร์ตที่ดูแหวกแนวของเขาเต็มไปด้วยสีสัน อารมณ์ ความรู้สึก สื่อสารถึงปัญหาและประเด็นทางสังคมที่หลายคนเลือกจะมองข้าม
ผมรู้จักทอม ผ่านฮอสเซน ฟาร์มานี (Hossein Farmani) เจ้าของแกลลอรีฟาร์มานีในนิวยอร์กและลอสแองเจลลิส อดีตผู้ก่อตั้งและประธานตัดสินรางวัลภาพถ่ายระดับโลก Lucie Award ตอนนั้นฮอสเซนบอกผมว่าเขากำลังจะจัดนิทรรศการภาพถ่ายแนววิทยาศาสตร์โดยช่างภาพฝีมือระดับเทพสองคนที่แกลเลอรีของเขาที่สุขุมวิท เขารู้ว่าผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบงานศิลปะ ก็เลยอยากชวนให้ผมไปร่วมงานเปิดตัวนิทรรศการนี้ด้วย พร้อมทั้งการันตีว่างานนี้เด็ดจริง ห้ามพลาด
จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันฝนตกพรำ ๆ ในยามเย็น ผมเดินฝ่าเม็ดฝนที่โปรยปราย ผ่านแสงสีที่ล่อตาล่อใจไปจนถึงแกลลอรี่ของฮอสเซนในสภาพเปียกมะล่อกมะแล่ก แต่ก็คุ้มค่า ผลงานภาพถ่ายชุด Anatomy 101 ของสองช่างภาพ ทอมและปุย (สุรชัย แสงสุวรรณ) ที่เลือกเอาเทคนิคการถ่ายภาพแฟชั่นขั้นสุดมาผสมผสานกับลักษณะกายวิภาคของมนุษย์เพื่อสร้างกระแสความตระหนักให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะในทางการแพทย์ งานศิลปะที่เต็มไปด้วยดีเทล แฝงไปด้วยนัยแบบจุก ๆ ที่จินตนาการต่อไปได้แบบยาว ๆ บอกเลยว่าเต็มอิ่ม และพอได้ฟังไอเดียเบื้องหลังแต่ละภาพก็ยิ่งทำให้รู้สึกอินไปกับสตอรี่ของแต่ละภาพมากยิ่งขึ้น
หลังจากวันนั้น ผมและทอมยังคงคุยกันเรื่อยมา และได้ร่วมงานกันบ้าง ในตอนที่ทอมสนใจเรื่องไมโครพลาสติกจากท้องทะเลไทย เมื่อปีก่อนภาพถ่ายขยะพลาสติกของทอมชนะรางวัลระดับโลก และได้รับเลือกให้ขึ้นปกหนังสือ Marine Plastic Abatement จากภาพขยะพลาสติกที่แสนธรรมดา ทอมสามารถพิถีพิถันสรรหามุมมองพิลึกพิลั่นถ่ายภาพออกมาจนสวยติดตาต้องใจจนมีคนเอาไปทำเป็นปกหนังสือ น่าอัศจรรย์มาก !
ภาพถ่ายขยะพลาสติกของทอม โพธิสิทธิ์ ที่ชนะรางวัลระดับโลกและขึ้นปกหนังสือ Marine Plastic Abatement
และในขณะที่ปัญหาผู้รุกรานทางชีวภาพ “ปลาหมอคางดำ” กำลังบานปลายเข้าขั้นวิกฤต ผมก็ได้รับเมสเสจจากทอมเล่าให้ผมฟังว่าทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร กำลังจะจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ป่าโดย โจเอล ซาร์ทอรี (Joel Sartore) หนึ่งในช่างภาพและนักสำรวจมือหนึ่งของเนชันแนลจีโอกราฟิก งานที่จะจัดชื่อว่า “นิทรรศการเนชันแนลจีโอกราฟิกโฟโตอาร์ก (National Geographic Photo Ark) ภารกิจพิทักษ์สรรพสัตว์ผ่านภาพถ่าย” ซึ่งจะแสดงคอลเลกชันผลงานภาพถ่ายพอร์เทรตของเหล่าสรรพสัตว์มากมายเกือบทุกสายพันธุ์ที่หาได้ในสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลก ที่โจเอลไล่ตามถ่ายเก็บเข้าคอลเลกชันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ไม่ต่างจากตำนานแห่งโนอาห์ ที่ต้อนสรรพสัตว์สารพัดขึ้นเรือยักษ์ที่เรียกว่า โนอาห์อาร์ก (Noah’s ark) เพื่อหนีหายนะจากท้องนทีที่ท่วมท้น
ในคอลเลกชันโฟโตอาร์ก โจเเอลก็ต้อนสรรพสัตว์เช่นกัน แต่เป็นต้อนเข้าสตูดิโอเฉพาะกิจที่เขาทำขึ้นมา ไม่ว่าจะหาง่ายหรือใกล้สูญพันธุ์ น่ารักหรืออัปลักษณ์ โจเอลจัดแสง ตั้งกล้องถ่ายเก็บเข้าคอลเลกชันทั้งหมด หนึ่งก็คือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจและปกป้องสัตว์เหล่านี้ให้ยังคงอยู่ต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และสองคือถ้าอนุรักษ์ไว้ไม่อยู่จริงๆ อย่างเช่นแรดขาวถิ่นเหนือ ที่ตอนนี้เหลือเพียงแค่ตัวเมียที่แก่ชราเกินกว่าจะตั้งครรภ์มีลูกได้แล้ว
ภาพถ่ายและคลิปของเขาก็จะเป็นบันทึกจากอดีตที่ทำให้คนรุ่นต่อไปรู้ว่าวันหนึ่งเราเคยมีสรรพสัตว์หน้าตาเช่นนี้อยู่บนโลกเป็นเพื่อนร่วมพื้นพิภพและผืนน้ำ เพียงแต่ว่าพวกเราพลาดและไม่สามารถที่จะช่วยกันปกป้องเผ่าพันธุ์ของพวกเขาเอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เห็นตัวเป็น ๆ ได้ อย่างน้อยภาพของโจเอลก็จะเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บันทึกประวัติศาสตร์ก่อนที่พวกเขาก็สูญพันธุ์ไปจากโลกจนหมดสิ้น
แนวคิดของโฟโตอาร์กทำให้ผมย้อนนึกถึงเรื่องราวของภาพถ่ายและฟุตเทจของเสือแทสเมเนียตัวสุดท้ายที่เดวิด เฟลย์ (David Flaey) นักผสมพันธุ์สัตว์ชื่อดังถ่ายเอาไว้ได้ในสวนสัตว์โฮบาร์ตในแทสเมเนีย เพราะถ้าไม่มีภาพและฟุตเทจเหล่านั้นของเดวิด เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าหน้าตาและพฤติกรรมของเสือแทสเมเนียนั้นเป็นอย่างไร เราจะไม่มีทางรู้เลยว่านักล่าร่างยักษ์แห่งแทสเมเนียที่เชื่อกันว่าเข้ากัดกิน ล่าแกะ ล่าวัว บ่อนทำลายระบบปศุสัตว์อันเปราะบางของพวกผู้บุกเบิกอาณานิคมจนโดนตั้งค่าหัวและโดนกวาดล้างล่าสังหารจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปนั้น แท้จริงแล้วอ้าปากได้กว้างเสียยิ่งกว่าหนุมานที่หาวทีมีทั้งเดือนทั้งตะวันเสียอีก ถ้าเปรียบเทียบหนุมาน เจ้าเสือนี่หาวทีน่าจะได้ทั้งกาแล็กซี ไม่ใช่มีแค่เดือนและตะวัน
แต่การที่เสือแทสเมเนียอ้าปากได้กว้างแบบผิดประหลาดก็มีจุดอ่อน เพราะนั่นหมายความว่าลักษณะของข้อต่อบริเวณขากรรไกรของพวกมันไม่น่าจะใช่แบบที่ยึดติดกันได้แนบแน่น แข็งแรง งับเสร็จ ขากรรไกรล็อก ไม่ว่าเหยื่อจะดิ้นยังไงก็ไม่หลุด แต่น่าจะเหมือนบานพับที่ยึดติดกันแบบหลวม ๆ งับทีรุนแรง แต่ถ้าเหยื่อตัวใหญ่ดิ้นก็เอาไม่อยู่ ต้องปล่อย
การศึกษาทางกายวิภาคของกะโหลกของเสือแทสเมเนียด้วยซีทีสแกน (CT scan) ในเวลาต่อมายืนยันว่าขากรรไกรของมันเชื่อมกันอย่างหลวม ๆ แนวบานพับจริง ๆ ซึ่งลักษณะโครงสร้างกะโหลกแบบนี้ นักวิทย์ผู้คร่ำหวอดในวงการกายวิภาคสัตว์ป่าไม่เชื่อว่าเหยื่อของเสือแทสเมเนียจะเป็นสัตว์ใหญ่ เพราะด้วยขากรรไกรที่อ่อนแอ กัดแรงได้ แต่ถ้าเหยื่อดิ้นก็เอาไม่ค่อยอยู่
ด้วยลักษณะทางกายภาพ เสือแทสเมเนียจึงจับได้แต่ตัวเล็ก ๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจู่โจมและล่าวัวหรือแกะได้ และถ้ามองในมุมนี้ เสือแทสเมเนียจึงไม่น่าจะผิดดังที่ถูกกล่าวหา และเป็นไปได้ว่าคำพิพากษา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ของมนุษย์ในยุคอาณานิคมที่ทำให้ประชากรเสือแทสเมเนียที่จริง ๆ ก็อ่อนแออยู่แล้ว สูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว แท้จริงแล้วคือการฆ่าแพะ (รับบาป) นอกจากจะให้ข้อมูลน่าสนใจแล้ว ภาพฟุตเทจของเสือแทสเมเนียของเดวิดยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยระดับโลกอย่างจอร์จ เชิร์ช (George Church) ผู้ก่อตั้งโคลอสซัลไบโอไซแอนซ์ (Colossal Bioscience) ให้วางแผนฟื้นคืนการสูญพันธุ์ (de-extinction) ของเผ่าพันธุ์ของเสือแทสเมเนียด้วย (เป็นแผนต่อจากแผนฟื้นชีพช้างแมมมอท)
ทอมถามผมว่าสนใจและสะดวกไหมที่จะไปร่วมงานของโจเอล สำหรับนักชีววิทยาที่หลงไหลในการถ่ายภาพ ผมตอบทันใดราวกับรีเฟลกซ์แอ็กชัน “ไปแน่นอน” ต้องขอบคุณทอมที่ช่วยเป็นสะพาน เพราะในเวลาไม่ช้าไม่นานผมก็ได้รับอีเมลเชิญไปร่วมงานจากสถานทูตสหรัฐฯ ผมตื่นเต้น เริ่มนับวันรอคอยวันงานที่ผมจะมีโอกาสได้กระทบไหล่ช่างภาพและนักสำรวจคนดัง ปรากฏว่าในงานมีทั้งนักวิชาการ นักอนุรักษ์ ช่างภาพ ทูต หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน รวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมอย่างคับคั่ง เรียกว่าไม่ได้กระทบไหล่คนดังแค่คนเดียว แต่จัดไปเป็นโขยง โจเอลตัวจริงยังคงแข็งแรง แม้จะอายุค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังคงแอ็กทิฟกับงานถ่ายภาพของเขาอย่างขยันขันแข็ง
ในทริปนี้ที่มาเมืองไทย นอกจากที่โจเอลจะมาบรรยายและเปิดนิทรรศการโฟโตอาร์กของเขาแล้ว เขายังมาทำมิชชันถ่ายภาพสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทยและเวียดนามอีกด้วย สัตว์บางตัวก็เป็นแบบที่ดี แต่บางตัวก็เกเรอย่างร้ายกาจ โจเอลโชว์คลิปตอนที่เขาถ่ายภาพนกทูแคนที่แสนดื้อรั้นและพยายามจิกทำลายเลนส์กล้องของเขาทุกเมื่อที่มีโอกาส ประสบการณ์จากการถ่ายภาพสัตว์ป่านั้นก็เป็นอะไรที่หาได้ยาก โจเอลเล่าต่อ บางทีฉากหลังที่เสียเวลาเซ็ตไว้อย่างดิบดีก็อาจจะถูกทึ้งทำลายในเวลาไม่ถึงนาที โดยนายแบบวานรที่อยากรู้อยากเห็น
ผมนึกย้อนไปถึงเรื่องราวของเดวิดกับเสือแทสเมเนียตัวสุดท้ายที่หลายคนรู้จักในนามเบนจามิน ที่ภายหลังมีดรามาว่าอาจจะไม่ได้ชื่อเบนจามิน และอาจจะไม่ใช่ตัวสุดท้ายจริง ๆ ความแสบของเบนจามินเป็นที่กล่าวขานและจดจำ เพราะการบันทึกภาพฟุตเทจในตำนานของเดวิด เขาเผลอเเป๊บเดียวก็โดนเบนจามินฝังรอยเขี้ยวเอาไว้ที่ก้นไว้ให้เป็นที่ระลึกมาด้วย บางตัวก็ไม่น่ารักเสียเลยอย่างจริงจัง แต่โจเอลก็ยังยึดมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่าย (และคลิป) ของเหล่าสรรพสัตว์ทุกชนิด โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะบางทีรูปที่เขาถ่าย อาจจะเป็นรูปสุดท้ายสำหรับหลายเผ่าพันธุ์
ในตอนที่ฟังเรื่องราวเบื้องหลังจากแต่ละภาพ ใจผมก็นึกย้อนกลับไปถึงสโลแกน “พวกเราทุกตัวสามารถเป็นแพนดาได้” ของ “สมาคมอนุรักษ์สัตว์อัปลักษณ์ (Ugly Animal Conservation Society)” โดยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ไซมอน วัตต์ (Simon Watt) ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจเป็นแค่รายการวาไรตีพูดคุยแนวคอมเมดีตลก ๆ ที่จัดขึ้นมาด้วยคาดหวังให้ผู้คนมองต่างมุมและเห็นความน่ารักของสัตว์โลกไม่น่ารักอย่างปลาบล็อบ (blob fish) หรือตัวอายอาย (aye aye) กันบ้าง เพราะสัตว์ที่ไม่น่ารักก็ต้องการความรักและต้องการการอนุรักษ์ไม่ต่างจากโคอาลาหรือแพนดาเช่นกัน
เพราะทุกชีวิตก็มีบทบาทและหน้าที่ของตนในระบบนิเวศอันเปราะบาง ในเวลาที่สถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงกลียุคจากสารพัดปัจจัย ทั้งการขยายตัวของชุมชนเมือง มลพิษ ภูมิอากาศวิปริต ไปจนถึงผู้รุกรานทางชีวภาพ ก็คงจะดีหากสังคมเริ่มมีความตระหนักมากขึ้นถึงความสำคัญของทุกชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ยิ่งใหญ่ตามทฤษฎีไกอา (Gaia theory) นิทรรศการโฟโตอาร์กของโจเอลที่บันทึกโมเมนต์ของทุกสรรพสัตว์โดยไม่สนหน้าตาหรือความตะมุตะมิจึงเป็นมากกว่างานแสดงภาพถ่ายสัตว์ป่าธรรมดา แต่เปรียบเสมือนเรือโนอาห์แห่งยุคดาตาที่ช่วยเก็บรักษาตัวตนของส่ำสัตว์ต่าง ๆ ไม่ให้สูญหายไป ทั้งที่ยังดำรงอยู่และที่สูญพันธุ์หมดสิ้นไปแล้ว ถ้าหากเราช่วยกันลงมือลุยในเรื่องการวางแผนสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์กันอย่างจริงจัง บางสปีชีส์ก็อาจจะไม่ต้องสูญพันธุ์ไป จนต้องมาทุ่มเงินก้อนโตหลักหลายพันหลายหมื่นล้านเพื่อฟื้นชีพบางเผ่าพันธุ์กลับมาใหม่ก็เป็นได้