Headlines

นิทรรศการออกแบบอนาคตจากพื้นดินสู่อวกาศ

เรื่องโดย: นรมน กำจรพานิชเจริญ
สมาคมยุวชนอวกาศไทย


 

          จากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน For All Well-Being และการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโลกของเราในอนาคต บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวโน้มใหม่ๆ ในด้านการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสรรพสิ่งบนโลก จึงได้จัดตั้งศูนย์วิจัยแห่งอนาคตที่แรกในประเทศไทย ที่มีชื่อว่า “FutureTales Lab” เพื่อสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักอนาคตศาสตร์ทั่วโลก และส่งต่อข้อมูลสู่สาธารณะเพื่อนำไปสู่การออกแบบอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกัน

          โดยในปีนี้ทาง FutureTales Lab จะมีหัวข้อเกี่ยวกับ Future of organization ซึ่งประกอบไปด้วย live work learn play move และ sustain โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชม และทดลองเล่นอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

          โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ FutureTales Lab กำลังทำอยู่ ดังนี้

          1. Data Platform เป็นการแสดงข้อมูล sea air land ice และแสดงข่าวทั่วโลกแบบ real time ไม่ว่าจะเป็นข่าวเกี่ยวกับไฟไหม้ ควัน หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

          2. Foresight Research หรือ การวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ไม่ว่าจะเป็น future of living, future of education หรือ space exploration

          3. Collaboration platform for Futurist หรือก็คือจัดงานต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเรื่องอนาคต ได้มารวมตัวกัน และพูดคุยในเรื่องที่ตนเองสนใจ ทั้ง offline และ online

          นอกจากนี้ยังมีบริเวณนิทรรศการอนาคตศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้ความรู้ผ่านนิทรรศการแบบมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) จำนวน 3 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 : Data Platform

          แบ่งเป็น 2 ส่วนนิทรรศการ ได้แก่ Earth Pulse มองโลกในมิติแห่งความเชื่อมโยง จับตาดูชีพจรของโลกในทุกแง่มุมทั้งบนดิน ใต้น้ำ และสภาวะอากาศ เชื่อมโยงทุกสถิติที่น่าสนใจ และ Bangkok Next Tales รู้จักและเข้าใจเมืองหลวงของเราในหลากหลายมิติจากข้อมูลที่คุณอาจไม่เคยรู้จากที่ใดมาก่อน

          Earth Pulse คือชีพจรของโลกในช่วงเวลานั้น ซึ่งจะคอยตรวจสอบกระแสลม กระแสน้ำ ข่าวต่างๆ ทั่วทั้งดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบนี้ เพื่อเราจะสามารถมองปัจจุบันและคาดการณ์อนาคตได้ เพื่อดูสัญญาณต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และแสดงสิ่งต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่า ถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าเรามีข้อมูลมากพอ ก็อาจจะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก่อนหน้าที่จะเกิดนั้นประมาณ 1-2 อาทิตย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเตรียมความพร้อมและป้องกันมากขึ้น

          Bangkok next tales เป็นเครื่องมืออัจฉริยะที่จะทำให้เราสามารถเชื่อมโยงอดีต สู่เหตุการณ์ในปัจจุบัน และสถานการณ์ในอนาคตได้ โดยจะมีการแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ ประวัติศาสตร์กรุงเทพ ซึ่งสามารถบอกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น การขยายตัวของเมืองต่างๆ และการพัฒนาของเมืองได้ ทำให้เห็นว่าในแต่ละยุค ใช้วิธีการสัญจรแบบไหน มีการพัฒนาอย่างไร ส่งผลอะไรในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเทียบกับเหตุการณ์สำคัญในโลกได้อีกด้วย ทำให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไร และประเทศไทยของเรายังตามหลังมากน้อยแค่ไหน และเนื่องจากเป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบแผนที่จึงมีข้อมูลของสถานที่สำคัญต่างๆ แสดงอยู่ด้วย

          ส่วนต่อมาคือเหตุการณ์ตามเวลาจริง ซึ่งแสดงข้อมูลออกมาแบบ real time เพื่อให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาเมืองในทิศทางที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังสามารถจุดประกายความคิด ให้เกิดการพูดคุยเพื่อสรรหาสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุด ระหว่างภาครัฐ เอกชน และนักเรียนนักศึกษาได้

          ส่วนต่อไปคือ what if scenario หรือจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า… เป็นการแสดงข้อมูลในปัจจุบันว่าในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ มีอัตราการทิ้งขยะพลาสติกเท่าไหร่ การสัญจร ฯลฯ และถ้าทุกอย่างเพิ่มขึ้น หรือลดลงจะเป็นแบบไหน อะไรจะเกิดขึ้น หากมองหลายๆ อย่างรวมกันก็จะสามารถหาความเชื่อมโยงและเกิดหัวข้อที่สามารถทำไปต่อยอดและพัฒนาประเทศได้

          และส่วนสุดท้าย คือ สถานการณ์สุดขั้ว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ what if scenario โดยจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ ว่า กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรในอนาคต ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ เช่น เกิดเป็น กรุงเทพฯ เมืองลอยน้ำ ถ้าระดับน้ำทะเลเกิดเพิ่มขึ้น จนกรุงเทพฯ จมลงไปได้น้ำ และต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาเมืองใหม่ขึ้นมา เหมือนสิงคโปร์ที่สามารถพัฒนาจนหาวิธีและสามารถวางแผนไปจนถึงอนาคตได้ หรืออาจจะเกิดเป็นกรุงเทพฯ เมืองสีเขียวที่มองไปทางไหนก็มีแต่ต้นไม้ หรือหากเกิดสถานการณ์ที่แย่ที่สุดคือ การที่ปล่อยให้สภาพอาการแย่ไปเลย และสร้างโดมขึ้นมาเพื่อป้องกันสถานการณ์ที่ต่างๆ ไม่ให้มีมลพิษเข้าไป ซึ่งก็จะทำให้เกิดความแบ่งแยกของชนชั้นมากขึ้นไปอีก เพราะทุกคนไม่สามารถเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ได้

โซนที่ 2 : Future Living Interactive Gamification

          ประกอบด้วย 6 ส่วนนิทรรศการ ได้แก่

          1. Future city vision เป็นการจำลอง smart city ทั้ง 6 แห่ง ที่สะท้อนจุดเด่นของแต่ละมุมออกมา ไม่ว่าจะเป็น smart government, smart people, smart city, smart living, smart economy และอื่นๆ อีกหลายหัวข้อ โดยมีการทดลองจริงในแต่ละเมือง และค้นหาเมืองที่เด่นที่สุดในแต่ละเรื่อง เพื่อหาว่าวิธีการแบบไหนเหมาะกับเมืองไหน เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ควรจะแก้ไขยังไง และพลเมืองมีการต่อต้านแบบไหน แต่ smart ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง แค่ในด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความยังยืน และอื่นๆ อีกด้วย

          2. Future mobility เป็นเกม ให้เราสามารถเลือกไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ โดยเลือกยานพาหนะที่สามารถไปในตอนนี้ และยานพาหนะในอนาคต จากนั้นก็จะมีการเปรียบเทียบในเรื่องของความเร็ว ระยะทาง พลังงานที่เสียไป ปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา หรือแม้แต่แคลอรี่ที่จะเกิดการเผาผลาญ หากเราเลือกให้วิธีนี้ในการเดินทาง การเดินทางแต่ละแบบไม่มีผิดและถูก แต่จะทำให้เกิดกระบวนการคิดว่า ควรจะใช้การเดินทางแบบไหนจึงจะคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อที่จะทดแทนช่องว่างของการเดินทางแต่ละแบบ หายานพาหนะที่เหมาะสมในการเดินทางมากที่สุด และสามารถปิดช่องว่างของยานพาหนะที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง ไม่ใช่แค่การปล่อยมลพิษออกมา ซึ่งทุกคนสามารถมาทดลองเล่นและเลือกไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการได้

          3. Journey of waste เป็นเกมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่สร้างขึ้นมาให้แยกขยะแต่ละประเภทและสามารถเลือกได้ว่าจะแยกอะไรไปแบบไหน และจากนั้นจะนำไปไหนต่อ นำไปขาย บริจาค รีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ และสามารถบอกได้ว่าที่เราเลือกไปนั้นถูกต้องมากขนาดไหน ที่เราเลือกจะนำไปขาย ได้เงินกลับมาเท่าไหร่ อีกทั้งยังมีการบอกข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการทิ้งขยะของประเทศไทยด้วย

          4. Future Habitat เป็นเกมการหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุดในอนาคต เมื่อโลกปกติไม่สามารถอยู่อาศัยได้แลัว ทั้งบนฟ้า ในน้ำ ในอวกาศ โดยรูปแบบที่อยู่อาศัยจะมาจากคำถามและกิจกรรมต่างๆ ที่เราเลือกทั้ง 15 อย่าง โดยผู้เล่นแต่ละคนก็จะได้ที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันออกไป

          5. Create your city คือการสร้างเมืองของเราขึ้นมาเอง คล้ายๆ กับการเล่นเกม sims city โดยมีบล็อกให้สร้างถึง 84 บล็อก โดยสามารถเลือกได้ว่าจะสร้างอะไร เพียงแค่วางเครื่องมือ built ลงไป และนำเครื่องมือต่างๆ วางลงไป แล้วก็จะมีการปลดล็อกสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเมื่อนำเครื่องมือ built ออก ก็จะสามารถเห็นเมืองที่เราสร้างไปแล้วได้ และยังมีบอกปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ว่าสมบูรณ์พร้อมขนาดไหน ทั้ง smart city และ happyness city มีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองที่เราสร้างได้กี่คน

          6. Your urbanite เป็นกิจกรรมสุดท้าย ที่เป็นการประมวลผลถึงวิถีชีวิต ลักษณะของแต่ละบุคคล แล้วแสดงออกมาใน 8 ลักษณะของพลเมืองยุคอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนักสร้างสรรค์ นักบุกเบิกหรืออาจจะเป็นผู้นำ โดยจะนำข้อมูลมาจากกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เล่นไปทั้งหมด รวมรวมและประมวลผลออกมา

โซนที่ 3 : Space Exploration

          ประกอบด้วยส่วนนิทรรศการ Space Exploration ให้ความรู้ด้านอวกาศ ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศไทย รวมถึงแนวความคิดของการที่จะเดินทางไปอยู่อาศัยในดาวดวงใหม่ และการจำลองการปลูกต้นไม้ในโลก ซึ่งแนวคิดนี้ บริษัท Space ZAB Company ได้แนวคิดโดยใช้พืชหรือสิ่งมีชีวิตทุกประเภทบนโลกเพื่อทดสอบ สมมุติฐานการดำรงชีพอย่างยั่งยืนในอวกาศ โดยใช้เครื่องจำลองแรงโน้มถ่วง clinostat เป็นเครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิจัยใช้ในการค้นคว้าและศึกษาพฤติกรรมของพืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช

          ยกตัวอย่างเช่น พืชที่ปลูกได้อย่างง่ายดายบนพื้นโลกอย่างต้นถั่ว แต่กลับไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอวกาศ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขในอนาคต นักบินอวกาศก็อาจไม่สามารถปลูกพืชเพื่อนำมาใช้รับประทานได้ ทำให้การปฏิบัติงานในอวกาศเป็นระยะเวลานาน เป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้นการศึกษาปรากฏารณ์และการพัฒนาวิธีแก้ไข้เหล่านี้ จะส่งผลให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและกลไกลต่าง ๆ ในพืช ซึ่งสามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้บนพื้นโลก เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ชาติได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          ในการออกแบบอนาคตหลายๆ ครั้ง ที่อยู่อาศัยยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของการใช้ชีวิต และเป็นปัจจัยที่มีทางเลือกมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใต้พื้นดิน ในน้ำ บนพื้น ลอยน้ำ อยู่บนอากาศ หรือแม้กระทั่งออกไปใช้ชีวิตในอวกาศ เพราะการหาที่อยู่อาศัยในอนาคตส่วนมากไม่ใช่การพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการหาหรือสร้างพื้นที่ใหม่ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมนุษย์ก็ยังต้องมีที่อยู่อาศัย สถานที่ที่ยังต้องการการค้นหาอีกมากในตอนนี้ก็หนีไม่พ้นอวกาศ

          ถึงแม้ว่าการค้นคว้าวิจัยจะก้าวหน้าไปได้มาก และรวดเร็วกว่าในสมัยก่อน แต่ก็ยังไม่พบหนทางที่จะขึ้นไปใช้ชีวิตในอวกาศได้อย่างสมบูรณ์ การหาแนวทางอื่นๆ จึงเป็นตัวเลือกที่คนส่วนมากให้ความสำคัญมากกว่า แต่ไม่ใช่การปล่อยปละละเลยทำลายเมืองที่อยู่อาศัยของเรา และออกไปหาสถานที่ใหม่ๆ อยู่แทน แค่การปรับเปลี่ยนชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ก็อาจจะทำให้การเปลี่ยนที่อยู่อาศัยใหม่นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป การออกแบบอนาคตจะไม่ใช่สิ่งที่แค่นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง หรือเหล่าผู้ที่มีอำนาจทำได้ แต่มันจะเริ่มจากตัวเราทุกคน


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ที่
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/216676

About Author