ม.มหิดล ชูวิชาการธรณีศาสตร์ แก้โจทย์แผ่นดินไหว

          แม้วิกฤติ COVID-19 จะยังคงไม่คลี่คลายจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภายใต้พื้นพิภพ หรือเปลือกโลกก็ยังคงคุกรุ่นด้วยความร้อนตามธรรมชาติจากภายใต้พื้นโลกซึ่งทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวจากการเคลื่อนที่ของแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งอยู่ในส่วนของเปลือกโลกที่เปราะบาง ด้วยความรู้ทางธรณีศาสตร์ หรือ Geoscience จะทำให้เรารู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของพื้นโลก เพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่อาจเกิดอย่างไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ข้อที่ 4 ซึ่งว่าด้วยการศึกษาที่เท่าเทียม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถาบันผู้นำวิชาการด้านธรณีศาสตร์ของประเทศไทย ได้จัดตั้งอุทยานธรณีและพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาทางด้านธรณีศาสตร์สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงธรณีศาสตร์ รวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไป ในพื้นที่ 70 ไร่ โดยมีไฮไลท์ที่การจัดแสดงหินซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกนับ 4,400 ล้านปีจากพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย บริเวณแจ็คฮิลส์ (Jack Hills) ร่วมด้วยตัวอย่างหิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ ฯลฯ จากสถาบันและองค์กรทางธรณีศาสตร์ต่างๆ ในประเทศและทั่วโลก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับโลกที่มีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อาทิ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สถาบันวิจัยทางธรณีวิทยาแห่งรัสเซีย นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย มหาวิทยาลัยสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศสหราชอาณาจักร ฯลฯ รวมทั้งตัวอย่างหินจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่พร้อมจัดแสดงเพื่อการต่อยอดศึกษาวิจัยไว้อย่างครบครัน

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการสร้างเครือข่ายที่แน่นแฟ้นกับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเปลือกโลกสมัยบรรพกาลตั้งแต่ประมาณ 2,900 ล้านปี โดยได้มีการจัดแสดงตัวอย่างหิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ อุทยานธรณีและพิพิธภัณฑ์ (GEOLOGICAL PARK & MUSEUM) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ถึงกว่า 100 ชิ้น นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และบุคลากรเพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

          ซึ่งการได้มีความร่วมมือศึกษาวิจัยด้านธรณีศาสตร์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับโลกต่างๆ คือ ปัจจัยสำคัญสู่การเป็นผู้นำวิชาการด้านธรณีศาสตร์ โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้พิสูจน์ถึงศักยภาพทางวิชาการธรณีศาสตร์ จากความสำเร็จในการค้นพบแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับธรณีแปรสัณฐานในภาคตะวันตกของประเทศไทย

          อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวิชาการด้านธรณีศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย ได้กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวว่า ประเทศไทยโชคดีที่มีสภาพธรณีสัณฐานที่ค่อนข้างเสถียร ในภาพรวมพบการเคลื่อนที่ของแผ่นดินน้อยมาก เพียงปีละ 1 – 2 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ด้านตะวันตกของรอยเลื่อนสกาย (Sagaing fault) ที่มีระนาบรอยเลื่อนเอียงเทไปทางตะวันตกใต้ทะเลอันดามัน ซึ่งพบการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกประมาณ 6 – 8 มิลลิเมตรต่อปี ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางธรณีสัณฐานในภูมิภาค โอกาสการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงในประเทศไทยน้อยมากๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก

          อย่างไรก็ดี อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล กล่าวว่า ไม่ต้องวิตกจนเกินเหตุแต่ก็ไม่ควรประมาท และได้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยตามลำดับ คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ตามด้วยภาคตะวันตก และภาคกลาง โดยการถอดรหัสจากข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทย จำนวน 90 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดเกิดสัมพันธ์กับแนว “รอยเลื่อนมีพลัง” (Active fault) หรือรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา และความร้อนใต้พิภพ จากระดับลึกที่เคลื่อนขึ้นมาตามระนาบรอยแตกนั้นๆ พบว่าอุณหภูมิของน้ำพุร้อนส่วนใหญ่ในแหล่งภาคเหนือ และภาคใต้ คือ 80 – 100 องศาเซลเซียส และ 60 – 79 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ส่วนอุณหภูมิของน้ำพุร้อนในแหล่งภาคกลางและภาคตะวันตก ต่ำกว่ามากเพียง 37 – 59 องศาเซลเซียส กรณีศึกษาเมื่อปี 2547 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 – 9.3 แมกนิจูด และเกิดเหตุสึนามิครั้งใหญ่ พบอุณหภูมิน้ำพุร้อนสูงขึ้นตลอดแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่น้ำพุร้อนหินดาด อำเภอทองผาภูมิ ตามแนววางตัวลำน้ำแควน้อย ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านบ้านวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และพาดลงไปทางปากอ่าวไทย โดยมีการพบว่าบ่อน้ำผิวดินของชาวบ้านที่อยู่เหนือแนวรอยเลื่อนบ่อหนึ่ง น้ำในบ่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 48 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 หลังจากแผ่นดินไหวสุมาตราได้ 2 วัน (ก่อนหน้านั้นไม่มีการใช้น้ำ) และจากนั้นอุณหภูมิน้ำค่อยๆ ลดลงวันละ 2 องศาเซลเซียส

          ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ จะเป็นเดือนที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดจัด “งานมหิดลวิชาการ ประจำปี 2564” ทางออนไลน์ โดยจะมีการเปิดบ้านวิชาการ หรือ Open House ของคณะ/สถาบันต่างๆ ของ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแนะนำหลักสูตรที่น่าสนใจ ซึ่งรวมถึงหลักสูตรธรณีศาสตร์ ของ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ปกครอง รวมทั้งครูแนะแนวที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.mahidol.ac.th หรือ Facebook : Mahidol University

          “การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลกที่เราอาศัยอยู่ ย่อมส่งผลกระทบต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม ยิ่งเรามีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโลกมากขึ้นเท่าใด โลกของเราก็จะปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น” อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล กล่าวทิ้งท้าย


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ภาพประกอบออกแบบโดย
วิไล กสิโสภา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author