การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกกับความมั่นคงทางอาหาร

เรื่องโดย รวิศ  ทัศคร


          ในปีนี้หลายท่านคงจะทราบว่าโลกของเราต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิญโญกันอีกครั้ง และอาจจะเป็นครั้งใหญ่กว่าครั้งก่อน ๆ ที่เราเคยเจอมา เท่าที่มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.08 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษมาโดยตลอด อัตราของการอุ่นขึ้นนั้นได้เพิ่มไวขึ้นอีกสองเท่าจากเดิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ด้วยอัตราถึง 0.18 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมานั้นเป็นปีที่หกที่มีอากาศร้อนที่สุดตามสถิติข้อมูลด้านอุณหภูมิที่ NOAA บันทึกเอาไว้ โดยอุณหภูมิผิวโลกอุ่นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ที่ 13.9 องศาเซลเซียส อยู่ 0.86 องศาเซลเซียส และอุ่นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมในช่วงปี ค.ศ. 1880–1900 (พ.ศ. 2423-2443) ถึง 1.06 องศาเซลเซียส

          ตัวเลขนี้อาจดูไม่เยอะ แต่อันที่จริงแล้วความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสนั้นมากมายมหาศาล เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรของโลกสามารถรองรับความร้อนเอาไว้เนื่องจากมีความจุความร้อนที่มากกว่าอากาศ การที่อุณหภูมิสูงขึ้นแม้เพียงองศาเดียวหมายถึงปริมาณความร้อนมากมายมหาศาลตกค้างอยู่ในส่วนมหาสมุทรของโลก สภาวะนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาวะอากาศของโลก เพราะความร้อนส่วนเกินนี้จะไปทำให้เกิดสภาวะอากาศสุดโต่ง ไปลดพื้นที่ที่มีหิมะสีขาวปกคลุมและน้ำแข็งในทะเล ทำให้ค่าอัตราส่วนสะท้อนหรือแอลบีโด (albedo) ของโลกน้อยลง โลกจะดูมืดขึ้นเมื่อมองจากอวกาศ สะท้อนแสงอาทิตย์และรังสีความร้อนกลับสู่อวกาศได้น้อยลงด้วย เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่และแห้งแล้งในบางพื้นที่ เปลี่ยนแปลงพื้นที่ถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์ ซึ่งบางที่จะมีบริเวณกว้างขึ้น บางพื้นที่มีบริเวณแคบลง สัตว์ทะเลก็อาจจะมีวงจรชีวิตผิดเพี้ยนไป การอพยพย้ายถิ่นของทั้งสัตว์บนบกและในทะเล เปลี่ยนช่วงเวลา อาจเกิดปรากฏการณ์ที่สาหร่ายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (algae bloom) หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์สาหร่ายบานในบางพื้นที่ ทำให้ปลาตายจำนวนมาก สัตว์ป่าที่ไปดื่มน้ำเสียอาจป่วยและตาย เหล่านี้จะกระทบห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติและส่งผลต่อมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ในอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์สำหรับผลิตอาหารให้คนเรารับประทานนั้นพบว่ามีปริมาณของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ถึงร้อยละ 14.5 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด

          ปัญหาของการบริโภคเกินความจำเป็นก็ก่อให้เกิดขยะอาหาร หรือจากอาหารที่ผลิตขึ้นมาแต่รับประทานไม่หมดหรือไม่ได้รับประทาน อาหารที่คนเราผลิตขึ้นทั่วโลกประมาณร้อยละ 33 ต้องกลายเป็นขยะ หากผู้อ่านเคยติดตามข่าวจะพบว่าเคยมีข่าวที่ประเทศต่าง ๆ หามาตรการมาแก้ไขปัญหานี้ ตั้งแต่การทำตู้บริจาคอาหารให้คนจรไร้บ้าน การทำซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับคนจรที่ใคร ๆ ก็เข้ามาหยิบอาหารที่กำลังจะหมดอายุไปรับประทานได้ เพื่อให้ของเหล่านั้นไม่กลายเป็นขยะ สำหรับประเทศไทยเองก็มีร่าง “แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560–2580” ซึ่งออกโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อรับมือ โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี พ.ศ. 2566–2570 จะลดขยะอาหารในประเทศลงร้อยละ 5 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ปัจจุบันชาวไทยเราบริโภคอาหารกันปีละกว่า 17 ล้านตัน กลายเป็นขยะราว 79 กิโลกรัมต่อคนไทยแต่ละคนต่อปี โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครมีอาหารทิ้งในแต่ละวันเป็นปริมาณกว่า 5000 ตันทีเดียว

          หน่วยงานระดับนานาชาติที่ให้ข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน และอาศัยการสรุปข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่าง ๆ มีชื่อว่า “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change)” หรือตัวย่อว่า IPCC ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หน่วยงานนี้มีคณะทำงานอยู่สามคณะ ซึ่งคณะทำงานที่สองจะทำหน้าที่ประเมินความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ-สังคมและระบบทางธรรมชาติ ที่มีผลต่อสภาวะโลกร้อน ผลกระทบของสภาวะโลกร้อน และทางเลือกของสังคมมนุษย์ในการปรับตัว

          ในรายงานสรุปประจำปี พ.ศ. 2565 บทที่ 10 เกี่ยวกับทวีปเอเชีย บอกว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่ผลิตอาหารป้อนชาวโลกกว่าร้อยละ 67 โดยคาดการณ์ว่าแม้ในปัจจุบันผลผลิตการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเอเชียในปี พ.ศ. 2562 จะสูงถึง 159.67 ล้านเมตริกตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74.7 ของกำลังการผลิตของโลก แต่ก็มีการทำนายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านประมงของเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ภายในปี พ.ศ. 2593-2613 คลื่นความร้อนในทะเลจะส่งผลให้พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกว่าร้อยละ 30 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถทำการผลิตได้ และปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะลดลงร้อยละ 10–20 ในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน[1]

          ไม่ใช่เฉพาะการประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แต่ผลิตผลทางการเกษตรอย่างข้าว ข้าวโพด รวมไปถึงปศุสัตว์เองก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวทางภาคอีสานของไทยจะลดลงร้อยละ 10–14 ภายในปี พ.ศ. 2623 ในขณะที่ผลผลิตข้าวของกัมพูชาจะลดลงถึงร้อยละ 45 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนที่อินเดียจะได้รับผลกระทบต่อผลผลิตมากที่สุดในอนาคตอันใกล้[1]

ผลกระทบที่คาดการณ์ไว้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อระบบเกษตรและอาหารของภูมิภาคย่อย ๆ เขตต่าง ๆ ในเอเชีย
ที่มา: [1] p.1492

          ขณะที่ผลผลิตด้านพืชผักลดลง ความเครียดของปศุสัตว์จะมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงอาจทำให้การแพร่ระบาดของศัตรูพืชบางชนิดเพิ่มขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมเริ่มเหมาะกับการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของมัน มีการทำนายเอาไว้ว่าประเทศที่ผลิตข้าว เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เวียดนาม ไทย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น จะมีการขยายตัวของหอยเชอร์รี (ชื่อสามัญ golden apple snail ชื่อวิทยาศาสตร์ Pomacea canaliculata) ซึ่งติดหนึ่งในร้อยรายชื่อแรกของสายพันธุ์ต่างถิ่น (เอเลียนสปีชีส์) ที่รุกรานพืชและสัตว์ท้องถิ่นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขึ้นอีกมากภายในปี พ.ศ. 2623


หอยเชอร์รี สายพันธุ์ต่างถิ่นยุคโลกร้อน ศัตรูตัวร้ายทำลายนาข้าวทั่วโลก ที่ถูกพิฆาตโดยน้ำจิ้มซีฟู้ดและผู้บริโภคชาวไทย

          สาเหตุที่ผลผลิตการเกษตรและประมงลดลงในอนาคต อาจไม่ใช่จากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากปัจจัยเร่งคือมนุษย์เองก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่นการปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะที่ประเทศไทยก็มีเนื้อที่เพาะปลูกในปี พ.ศ. 2564 ถึง 13,685,870 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวโพดกว่า 9,796,708 ตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตร ไม่ว่าจะโดยกลไกที่ถูกต้องหรือการบุกรุกพื้นที่ป่าของมนุษย์ก็ตาม ทำให้โลกของเราสูญเสียหน้าดินที่เพาะปลูกได้ไปเร็วยิ่งขึ้น ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โลกของเราสูญเสียพื้นดินที่สามารถเพาะปลูกได้ไปแล้วกว่าร้อยละ 33 นอกจากนี้การเกษตรสมัยใหม่ต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมาก และแปลงปลูกที่ไถพรวนดินอย่างหนักยังทำให้เกิดอัตราการกัดเซาะหน้าดินเร็วกว่าอัตราของการเกิดดิน 10–100 เท่าทีเดียว[2]

          อุตสาหกรรมอาหารเองก็เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากบทวิเคราะห์ของ โจเซฟ พัวร์ (Joseph Poore) และโทมัส เนเมเซก (Thomas Nemecek) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ในปี พ.ศ. 2561 ได้ประเมินเอาไว้ว่าปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลกคิดเทียบเท่ากับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 52.3 พันล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 74 เกิดจากกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่อาหาร ส่วนกิจกรรมด้านอาหารนั้นปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นปริมาณร้อยละ 26 ของก๊าซเรือนกระจกที่คนทั้งโลกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม[3], [4]


ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมด้านอาหาร เมื่อแบ่งเป็นส่วนย่อย ซึ่งแบ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานรวมร้อยละ 18 เกี่ยวกับปศุสัตว์และประมงร้อยละ 31 เกี่ยวกับการผลิตพืชผลรวมร้อยละ 27 และเกี่ยวกับการใช้ที่ดินร้อยละ 24 (รวมทั้งหมดนี้คิดเป็นร้อยละ 26 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก)

ที่มาของข้อมูล : [3]

          ผลผลิตจากภาคเกษตรที่ลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ รวมถึงราคาทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้นจะส่งผลกับอาหาร ตั้งแต่การจัดเก็บหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การเก็บรักษาหลังแปรรูป และการจัดจำหน่ายตามไปด้วย โดยประมาณว่าราคาของอาหารในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากราคาวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานเอง ราคาค่าใช้จ่ายต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการแปรรูปหรือเก็บรักษาอาหาร มีการยกตัวอย่างไว้กรณีหนึ่งว่า กระบวนการเก็บรักษาอาหารด้วยการแช่เย็นและแช่เยือกแข็งก็ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน ประเทศในเขตอบอุ่น หากอุณหภูมิภายนอกอาคารเพิ่มจาก 17 องศาเซลเซียส ไปเป็น 25 องศาเซลเซียส ห้องเย็นจะกินพลังงานเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 11

          ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่าค่าดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index: CPI) อาจจะสูงขึ้นแบบมีอัตราเร่งมากกว่าเดิม จากปัจจัยเพิ่มเติม เช่น สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะไปส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร โดยค่า CPI เป็นตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครอบครัวผู้บริโภคซื้อมาบริโภคในบ้านเรือนเป็นประจำเมื่อเทียบกับราคาที่กำหนดไว้เป็นปีฐาน ค่านี้นอกจากจะสะท้อนสภาพเงินเฟ้อแล้ว ยังถือเป็นดัชนีที่แสดงถึงต้นทุนที่เราต้องใช้เพื่อคงคุณภาพในการดำรงชีวิตในระดับเดิมอีกด้วย เพราะเมื่อค่านี้เพิ่มสูงเร็วเกินไป เราท่านจะรู้สึกว่าข้าวของแพงนั่นเอง อย่างราคาของอาหารในสหรัฐที่อเมริกาเพิ่มสูงขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา (เปิดดูอินโฟกราฟิก) หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป คนทั่วโลกอาจจะต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นอีกหลายเท่าก็เป็นได้

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐช่วงปี ค.ศ. 1983–2023
ที่มาของข้อมูล : https://www.nerdwallet.com/article/finance/price-of-food)


สแกน QR code เพื่อดูข้อมูลการเพิ่มขึ้นของ CPI ในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ. 2537–2566

          ยิ่งในอนาคตเมื่อโลกมีความต้องการอาหารมากขึ้น ซึ่งคาดไว้ว่าความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 60 ภายในปี พ.ศ. 2593[5] ต้นทุนก็จะถีบตัวสูงขึ้น ภาคเกษตรที่เพาะปลูกเพื่อผลิตพืชผลป้อนสู่ตลาดกำลังปรับตัวด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่โดยใช้ระบบเกษตรแม่นยำ (precision farming) ที่มีการผลิตภาคเกษตรโดยการตรวจวัดข้อมูลอย่างแม่นยำและควบคุมการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดผ่านการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น การเก็บตัวอย่างดินโดยอาศัย GPS การใช้โดรน ยานยนต์อัตโนมัติ การติดตามสภาพภูมิอากาศและใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูง การใช้ machine learning เพื่อพยากรณ์สภาพอากาศ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14.2 ต่อปี จนเพิ่มเป็น 295,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2566[6] หรือระบบฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm) ที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยการตัดสินใจในการบริหารฟาร์ม  และระบบโรงงานผลิตพืชผล (plant factory) ในแบบต่าง ๆ รวมถึงระบบฟาร์มแนวตั้งภายในอาคาร

          อุตสาหกรรมอาหารเองก็จะต้องปรับลดพลังงานที่ใช้เพื่อผลิตอาหารลงด้วย และบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและให้มีต้นทุนด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านพลังงานน้อยลง โดยเฉพาะกับอาหารที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง เช่น กาแฟสำเร็จรูป เฟรนช์ฟราย มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง ซึ่งกระบวนการแปรรูปด้วยความร้อนที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตถือเป็นปริมาณพลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้[5] ในการแปรรูปเนื้อและผลิตภัณฑ์จากนมก็เช่นกัน การใช้น้ำและพลังงานก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรฐานด้านอนามัยสูงขึ้น

          เทคนิคที่อุตสาหกรรมทั่วไปรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารนำมาใช้เพื่อบริหารการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยลง เช่น การวิเคราะห์และวัดค่าพลังงานที่ใช้ในแต่ละกิจกรรมในโรงงาน การดึงความร้อนกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีต่าง ๆ การบำบัดน้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ภายในโรงงานด้วยเทคนิควิธีต่าง ๆ อาทิ การใช้กระบวนการแยกด้วยเยื่อเมมเบรน การใช้ถังปฏิกรณ์ชีวภาพในการบำบัด การบริหารจัดการเพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นในการผลิต การใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติเพื่อควบคุมการใช้พลังงานความร้อนจากไอน้ำ และเพื่อควบคุมการผลิตไอน้ำโดยเครื่องกำเนิดไอน้ำร้อน

          นอกจากนี้ก็มีการดูแลรักษาเครื่องมือเครื่องจักรไม่ให้เกิดสิ่งสกปรก (fouling) ไปจับตัวในอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร เนื่องจากจะไปลดประสิทธิภาพการทำงาน การช่วยลดความร้อนที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ก็มีความสำคัญ เช่น การใช้ฉนวนความร้อนหุ้มอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร การนำน้ำออกจากของเสียที่เป็นขยะอาหาร การออกแบบอาคารเพื่อให้มีการระบายอากาศและมีแสงสว่างเพียงพอ โดยอาจจะใช้แสงสว่างจากธรรมชาติและใช้แหล่งกำเนิดแสงที่กินไฟน้อยแต่ให้แสงสว่างมาก เช่น หลอดแอลอีดี แหล่งกำเนิดแสงพิเศษอื่น ๆ การปลูกต้นไม้รอบอาคารโรงงานที่เป็นห้องเย็นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำความเย็น และการใช้สีทาอาคารแบบพิเศษเพื่อสะท้อนความร้อนที่อาคารจะดูดซับจากแสงแดดลง[7], [8] เทคนิคเหล่านี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย หากมีโอกาสจะนำมาแนะนำสอดแทรกเอาไว้ให้ทุกท่านในโอกาสต่อ ๆ ไปครับ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. IPCC, 2022: Climate Change 2022: Impacts, Adaptation, and Vulnerability. Contribution of Working Group II to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [H.-O. Pörtner, D.C. Roberts, M. Tignor, E.S. Poloczanska, K. Mintenbeck, A. Alegría, M. Craig, S. Langsdorf, S. Löschke, V. Möller, A. Okem, B. Rama (eds.)]. Cambridge University Press. Cambridge University Press, Cambridge, UK and New York, NY, USA, 3056 pp., doi:10.1017/9781009325844. (โหลดอ่านได้ที่ลิงก์ https://report.ipcc.ch/ar6/wg2/IPCC_AR6_WGII_FullReport.pdf )
  2. https://futureoflife.org/recent-news/the-world-has-lost-33-of-its-farmable-land/
  3. https://ourworldindata.org/food-ghg-emissions
  4. Poore, J., & Nemecek, T. (2018). Reducing food’s environmental impacts through producers and consumers. Science, 360(6392), 987-992.
  5. Ladha-Sabur, A., Bakalis, S., Fryer, P. J., & Lopez-Quiroga, E. (2019). Mapping energy consumption in food manufacturing. Trends in Food Science & Technology, 86, 270-280.
  6. กุสุมาภรณ์ สมพงษ์, อภิญญา กมลสุข, และฐิติมา สระมณี. (3 กุมภาพันธ์ 2563). Precision Farmingเทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล. https://www.nectec.or.th/news/news-article/precision-farming.html
  7. Mattsson, B., & Sonesson, U. (Eds.). (2003). Environmentally-friendly food processing (Vol. 91). Woodhead Publishing.
  8. Klemes, J., Smith, R., & Kim, J. K. (Eds.). (2008). Handbook of water and energy management in food processing. Elsevier.

แหล่งข้อมูลเสริม

  • https://th.wikipedia.org/wiki/คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/climate-change-global-temperature
  • https://climate.tmd.go.th/content/article/13
  • https://www.greenpeace.org/thailand/explore/transform/food-system-old/food-industry-impact/

About Author