โรคเกาต์เป็นโรคข้อที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง จนเกิดการตกตะกอนของกรดยูริกในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆข้อ ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ บวม และแดง ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่องโรคนี้สามารถรักษาหายได้
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ ได้แก่ ภาวะอ้วน, พันธุกรรม, ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ และยาแอสไพริน, โรคความดันโลหิตสูง และอาหารที่มีกรดยูริกสูง ดังนั้นผู้ป่วยโรคเกาต์จึงควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไปพบแพทย์ตามนัด ดื่มน้ำมาก ๆ และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีพิวรีนสูง (Purine) เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ภายในร่างกาย เช่น
1. เหล้า
2. เบียร์
3. เครื่องในสัตว์
4. อาหารทะเล
5. อาหารประเภทที่มีไขมันสูง
6. สัตว์ปีก
7. สัตว์เนื้อแดง
8. ยอดผัก เช่น หน่อไม้ ชะอม กระถิน ยอดผักคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีน ยอดฟักทอง ยอดตำลึง
9. เมล็ดพืช ธัญพืชชนิดต่าง ๆ
10. กะปิ
11. ถั่วดำ ถั่วแดง
ส่วนอาหารที่มีพิวรีนต่ำ สามารถบริโภคได้ เช่น ผักเกือบทุกชนิด (ยกเว้นยอดผัก) ผลไม้ ไข่ นม เนยแข็ง เมล็ดข้าวขัดสี แป้ง (ยกเว้นแป้งสาลี)
จะเห็นได้ว่าหากเลือกรับประทานอาหาร จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ได้ แต่อย่างไรก็ตามอาหารก็เป็นเพียงปัจจัยเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคเกาต์
ทางที่ดีแนะนำให้ไปตรวจร่างกายประจำปี และหากพบว่าตัวเองมีอาการที่อาจแสดงว่าเป็นโรคเกาต์ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง