Headlines

ม.มหิดล แนะแนวทางสร้าง “ตลาดสีเขียวเชิงรุก” เตรียมเสนอนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจชาติ

          แนวคิดของ “ตลาดสีเขียว” เกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนแผ่ขยายไปทั่วโลก บนพื้นฐานแห่งสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ

          รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพหลักสูตร และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นผู้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งในฐานะนักวิจัยทางด้านประชากรศาสตร์ แม้ไม่ได้เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้

          จากการศึกษากลไกทางสังคม สู่ทางออกในเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้เข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ “ตลาดสีเขียว” จึงเป็นทางเลือกของโลกยุคใหม่ที่น่าจับตาในขณะนี้ จากการลงพื้นที่ศึกษา “ตลาดสีเขียวต้นแบบ” ในประเทศไทยจนครบทั้ง 4 ภาค ได้นำมาสู่แนวทางการสร้าง “ตลาดสีเขียวเชิงรุก” เตรียมเสนอในเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ให้ชุมชนที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้

          หัวใจของ “ตลาดสีเขียว” คือความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่ง “ผลิตในชุมชน เพื่อคนในชุมชน” ซึ่งจะเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในวันที่โลกต้องเผชิญกับทุกวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคระบาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่นำไปสู่วิกฤติการขาดแคลนอาหาร ซึ่งไม่ได้มาจากเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อม

          คือ “การมีส่วนร่วม” ของคนในชุมชนในการร่วมสร้างและบริโภค “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” ที่ปลอดจากสารเคมี ดีต่อสุขภาพกว่า “อาหารปลอดภัย” ที่อาจยังคงมีการใช้สารเคมี แม้ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

          ด้วยกลไกแห่ง “โอกาส” ที่มาจากการระดมทรัพยากรที่พอเพียง และหลากหลาย โดยใส่ “มูลค่า” ซึ่งมาจากเงื่อนไขของ “การแลกเปลี่ยน” และ “การสร้างแรงจูงใจ” ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันที่เท่าเทียมในชุมชน ตาม “ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนเครือข่าย” (Network Exchange Theory) ที่จะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบ

          นอกจากนี้ ยังเป็นวิถีแห่งการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเป็นการทำให้อาหารต้องผ่าน “การเดินทาง” น้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิง และจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการขนส่งได้ต่อไป โดยที่ “ตลาดสีเขียว” ของแต่ละชุมชนจะมีการพัฒนาตัวเองอย่างเป็นพลวัต เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด

          อีกทั้ง ยังสามารถขยายการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ไปสู่นอกชุมชน หรืออาจถึงระดับส่งออกเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ ภายใต้การพัฒนามาตรฐานการผลิตตามศักยภาพที่แตกต่างกันไปของแต่ละชุมชน และอุปสงค์ของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

          โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ ได้ให้มุมมองของการทำ “ตลาดสีเขียว” ในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนว่า “ตลาดสีเขียว” อยู่ได้ด้วยกำลังซื้อจากผู้บริโภคที่มองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ “คุณค่า” กว่าจะได้มาต้องใช้เวลาและกระบวนการที่พิถีพิถันอย่างไรให้ได้สินค้าที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ

          ซึ่ง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” จาก “เกษตรเคมี” มาเป็น “เกษตรอินทรีย์” จะต้องใช้เวลาถึง 12 – 18 เดือน โดยจะต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้ถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ และจะยิ่งทำให้ได้เพิ่มการเข้าถึงมากขึ้นไปอีก หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการให้พื้นที่กระจายสินค้า

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author