ร่างกายของผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ บางครั้งความเปลี่ยนแปลงในร่างกายอาจทำให้เกิดความผิดปกติ และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งบางโรคอาจจะไม่มีสัญญานเตือน จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อถึงขั้นรุนแรง เราจึงควรใส่ใจกับสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่มีความแตกต่างและซับซ้อน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช สังเกตความผิดปกติของร่างกาย แม้บางโรคจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากปล่อยเอาไว้ก็อาจจะเกิดปัญหาในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา จันทร์ผ่อง ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคทางนรีเวชที่พบบ่อยในผู้หญิง อ้างอิงจากสถิติจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนตุลาคม 2566 มากที่สุด 5 อันดับ ดังนี้
1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จำนวน 5,042 คน เฉลี่ยประมาณ 500 คนต่อเดือน ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคนรีเวช โดยปกติในแต่ละรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะก่อตัวหนาขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไข่และสเปิร์มที่ปฏิสนธิกัน มาฝังตัวที่ผนังเยื่อบุโพรงมดลูก และเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกทางช่องคลอดเป็นประจำเดือน แต่ในกรณี “เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” เป็นภาวะที่เยื่อนั้นไม่ลอกออกมาทั้งหมด แต่กลับย้อนกลับเข้าไปตามท่อนำไข่ และไหลเข้าไปในช่องท้อง สะสมไปเรื่อย ๆ ทุกรอบเดือนทำให้กลายเป็นถุงน้ำที่เรียกว่า “ช็อกโกแลตซีส” นอกจากนั้น บางส่วนจะกลายไปเป็นเนื้อเยื่อหรือพังผืดเกาะยึดตามอวัยะวะต่าง ๆ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยอาการที่เด่นชัดของภาวะนี้ที่พบบ่อยคือปวดเกร็งช่วงมีประจำเดือน โดยอาการปวดมักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกรอบเดือน ต้องรับประทานยาแก้ปวดเพิ่มขึ้น หรือในบางรายต้องใช้ยาฉีดแก้ปวดอาการจึงทุเลาลง แต่ไม่หายขาด เป็นเพียงการประคับประคองอาการ หากไม่ทำการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก ภาวะนี้สามารถรักษาหรือบรรเทาด้วยการใช้ฮอร์โมนตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ หรือกรณีที่รุนแรงจะมีการผ่าตัดเพื่อเลาะพังผืดดังกล่าวออก แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะอาการของโรคอาจไม่หายขาด ตราบใดที่ยังมีประจำเดือน ก็จะยังมีโอกาสเกิดภาวะนี้ขึ้นอีกได้ ส่วนสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด และไม่มีแนวทางการป้องกัน ทำได้เพียงแค่การเฝ้าสังเกตอาการและติดตามรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ภาวะนี้จะไม่ได้เป็นอันตราถึงชีวิตแต่ก็คุกคามการใช้ชีวิตทำให้ทุกข์ทรมาน และอาจผลกระทบต่อโอกาสในการตั้งครรภ์
2. เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Leiomyoma) มีผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยโรคเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก จำนวน 3,500 คน เฉลี่ยประมาณ 350 คนต่อเดือน อาการจะขึ้นกับชนิดของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก แบ่งตามตำแหน่งของเนื้องอกได้ 3 ชนิดด้วยกัน คือ เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous myoma) จะอยู่บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก อาการที่เด่นชัดของภาวะนี้คือ มีประจำเดือนมากและนานกว่าปกติ อาจใช้ผ้าอนามัยวันละ 5-6 ผืนชุ่ม ประจำเดือนมานานอาจมากกว่า 5-7 วัน เกิดอาการเสียเลือดมาก อาจจะทำให้เป็นลมหมดสติ หรือมีภาวะซีดเรื้อรังได้ เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก (Intramural myoma) ในกลุ่มนี้ก็จะทำให้มีเลือดออกได้เช่นเดียวกับกลุ่มแรก แต่หากก้อนใหญ่มาก จะทำให้ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้คนไข้ปวดปัสสาวะบ่อย หรือกดเบียดลำไส้ตรง จะทำให้เกิดอาการท้องผูก ขับถ่ายลำบาก หรือต้องใช้แรงในการขับถ่ายมากขึ้น บางรายไปกดเบียดท่อไตเกิดภาวะไตบวมน้ำหรือไตวายได้ เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserous myoma) ในกลุ่มนี้จะไม่มีอาการอะไรบ่งชี้ว่าเกิดโรค ซึ่งกว่าคนไข้จะมาพบแพทย์ ก้อนเนื้อก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ไปกดเบียดอวัยวะอื่น ๆ เหมือนในกลุ่มที่ 2 วิธีการรักษา หากก้อนเนื้อมีขนาดที่เล็กไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิต แพทย์จะแนะนำให้สังเกตและติดตามอาการไปเรื่อย ๆ รอจนกระทั่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก้อนเหล่านี้อาจจะค่อย ๆ เล็กลงและหายไปได้ เนื่องจากร่างกายไม่ได้มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือบางรายอาจใช้การรักษาด้วยฮอร์โมน แต่ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่เกิน 6-8 เซนติเมตรขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด การป้องกันการเกิดโรคไม่มีวิธีป้องกัน แต่ถ้าหากพบว่าร่างกายผิดปกติ ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
3. ภาวะหมดประจำเดือน (menopause) มีผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยภาวะหมดประจำเดือน จำนวน 2,240 คน เฉลี่ยประมาณ 224 คนต่อเดือน โดยปกติผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนตามธรรมชาติที่อายุเฉลี่ย 51 ปี หรือที่เรียกว่าวัยทอง โดยประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน ไม่สม่ำเสมอ จนกระทั้งเมื่อประจำเดือนขาดไป 1 ปี นับจากที่มาครั้งสุดท้ายจึงนับเป็นวัยทอง ร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากรังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน มีเหงื่อออกตอนกลางคืน สมาธิสั้น นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย หลงลืม ถ้ากรณีที่อาการไม่รุนแรงสตรีจะสามารถปรับตัวและอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปในระยะเวลา 3-5 ปี คำแนะนำคือให้รับประทานอาหารที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทางธรรมชาติ เช่น ถั่ว น้ำเต้าหู้ น้ำมะพร้าว หรือการออกกำลังกาย ทำจิตใจให้แจ่มใส ให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเอง ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารเสริมหรือซื้อฮอร์โมนรับประทานเอง ภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ไม่มีวิธีการที่จะป้องกันให้เกิดขึ้นได้ แต่สามารถดูแลตนเองให้มีภาวะสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใสเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ป่วยที่หมดประจำเดือนจากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง กลุ่มนี้จะทำให้เกิดการหมดประจำเดือนแบบกระทันหัน หรือการเข้าสู่วัยทองก่อนวัย ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้ากลุ่มอาการขาดประจำเดือนรุนแรงรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันแนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับฮอร์โมนทดแทน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (Vaginal Bleeding) มีผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด จำนวน 1,200 คน เฉลี่ยประมาณ 120 คนต่อเดือน ปกติแล้วผู้หญิงจะมีเลือดออกจากช่องคลอดทุก ๆ 21-35 วัน ในทุกเดือน ซึ่งเรียกว่าเลือดประจำเดือน หากมีอาการเลือดออกผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประจำเดือน ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน ซึ่งสาเหตุของเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ในวัยหมดประจำเดือนอาจมีสาเหตุการเกิดโรคที่ร้ายแรง อาทิ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก ดังนั้นหากมีเลือดออก ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Ultrasound Transvaginal) และเก็บชิ้นเนื้อโพรงมดลูกตรวจหาสาเหตุต่อไป
5. มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) มีผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จำนวน 500 คน เฉลี่ยประมาณ 50 คนต่อเดือน โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นอันดับหนึ่งทางนรีเวช เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ชนิดความเสี่ยงสูง ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานลดลงเชื้อ HPVจะทำให้เซลล์บริเวณเยื่อบุปากมดลูกเปลี่ยนแปลง ในระยะแรกจะตรวจพบความผิดปติได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า Pap’s smear ซึ่งถ้าตรวจพบระยะแรก จะรักษาได้ แต่ถ้าอาการรุนแรงหรือเข้าสู่ระยะลุกลามอาจมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกกระปริดกระปรอย มีตกขาวผิดปกติ เจ็บและมีเลือดออกขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นระยะที่รักษาไม่หายขาดและอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต วิธีป้องกันการเกิดโรคอีกหนึ่งวิธีคือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV โดยกระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้เด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ทั้งสิ้น 3 เข็ม โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดให้กับเด็กผู้หญิง หรือสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ จะสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สตรีทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี ยิ่งรู้เร็วเท่าไร โอกาสรักษาให้หายจะมีมากขึ้น ที่สำคัญอีกประการคือ การ “Safe Sex” หรือการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการรับเชื้อ ทั้งนี้ ยังสามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา จันทร์ผ่อง กล่าวทิ้งท้ายว่า การไปพบสูตินรีแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากมีความผิดปกติไม่ควรทิ้งไว้หรือไปซื้อยารับประทานเองเพราะอาจเกิดอันตรายได้ เมื่อมาพบแพทย์จะทำการซักประวัติ การตรวจภายใน (Pelvic Exams: PV) จะทำเมื่อจำเป็น สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สตรีอายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถเข้ารับการตรวจได้ และควรตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรค หากละเลยจนเกิดอาการรุนแรงแล้วไปพบแพทย์ การวินิจฉัยโรคก็จะล่าช้า ทำให้การรักษายาก จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนใส่ใจสุขภาพภายในของตนเอง เพราะ “รู้เร็ว = รักษาได้” เมื่อพบความผิดปกติเราก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที