โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
“ในเวลากลางวันก็บันดาลให้มีอัศจรรย์มา พระอาทิตย์นั้นก็ทรงกลด”
จากหนังสือ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกำลังยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชาและทรงยุทธหัตถี
คนไทยมีความเชื่อว่า อาทิตย์ทรงกลดเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ เป็นมงคล เป็นฤกษ์ดี ดังที่ปรากฏในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดและพงศาวดารต่าง ๆ รวมทั้งบางครั้งยังปรากฏเป็นข่าวเวลาประกอบพิธีกรรมแล้วเกิดอาทิตย์ทรงกลด
นอกจากน่าอัศจรรย์แล้ว อาทิตย์ทรงกลดยังเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สวยงาม สามารถเห็นได้ทุกแห่งทั่วโลก แม้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เห็นได้ทุกฤดูกาลตลอดปี ถ้ามองท้องฟ้าบ่อยก็มีโอกาสจะได้เห็นทรงกลดบ่อย
คำว่า “ทรงกลด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามไว้ว่า “มีแสงสีรุ้งเป็นวงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์”
การทรงกลดไม่ได้เกิดเฉพาะดวงอาทิตย์เท่านั้น ยังสามารถเกิดกับดวงจันทร์ หรือที่ไม่ได้กล่าวถึงในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ บางครั้งทรงกลดอาจเกิดกับดาวที่สว่างมาก เช่น ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวโจร (Sirius) ฯลฯ ได้ด้วย
ถ้าแยกคำว่า “ทรงกลด” เป็น 2 คำ คือ “ทรง” กับ “กลด” คำว่า “ทรง” เป็นคำราชาศัพท์แปลว่า ถือ และคำว่า “กลด” คือ ร่มขนาดใหญ่ ดังนั้น “ทรงกลด” แปลตรงตัวว่า ถือร่มขนาดใหญ่ อาจหมายถึงพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ถือร่มขนาดใหญ่ (พระอาทิตย์และพระจันทร์นี้คือเทวดาที่อยู่บนท้องฟ้า)
คนทั่วไปอาจใช้คำว่า “พระอาทิตย์” และ “พระจันทร์” แต่ในทางดาราศาสตร์จะใช้คำว่า “ดวงอาทิตย์” ไม่ใช้คำว่า “พระอาทิตย์” และใช้คำว่า “ดวงจันทร์” ไม่ใช้คำว่า “พระจันทร์” เพื่อให้มีความรู้สึกว่าเป็นวัตถุท้องฟ้า มากกว่าเป็นเทวดา
ภาษาอังกฤษมีคำที่มีความหมายว่าทรงกลดอยู่ 3 คำ คือ corona, aureole และ halo
corona (คอโรนา) เป็นวงกลมสีรุ้งรอบเกือบติดดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์หรือดาวสว่าง ขนาดไม่เกิน 15 องศา ตรงกลางคอโรนาเป็นวงกลมสีขาวสว่าง คอโรนาเกิดจากแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์หรือแสงดาวสว่างเลี้ยวเบนผ่านหยดน้ำในเมฆบางสกุล มักเกิดกับเมฆแอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนสีขาวสูงระดับปานกลาง แต่บางครั้งสามารถเกิดกับเมฆสกุลอื่นได้ด้วย
aureole (ออรีโอล) เป็นวงชั้นในของคอโรนา มีสีน้ำตาลแดง เกิดจากสภาพหยดน้ำในเมฆที่บางครั้งทำให้เกิดคอโรนาเฉพาะวงในหรือเกิดเฉพาะวงออรีโอลสีน้ำตาลแดง ไม่เกิดวงสีอื่น ๆ
halo (เฮโล่) มีหลายรูปแบบไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด ทั้งวงกลม วงรี เส้นโค้ง เส้นตรง หรือจุด อยู่รอบหรือตัดผ่านดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ มีทั้งแบบสีรุ้งและสีขาว มีหลายขนาด เฮโล่เกิดจากแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์หักเหและสะท้อนผ่านผลึกน้ำแข็ง (ice crystal) ในเมฆบางสกุล มักเกิดกับเมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) มีลักษณะเป็นแผ่นม่านบางสีขาวอยู่สูง แต่บางครั้งสามารถเกิดกับเมฆสกุลอื่นได้ด้วย
- ภาพดวงจันทร์ทรงกลดแบบคอโรนา ถ่ายโดย Sergio Montúfar ที่ประเทศอาร์เจนตินา ที่มาภาพ NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap150615.html
- ภาพดาวศุกร์ทรงกลดแบบออรีโอล (Venus aureole) ถ่ายโดยผู้เขียน 11 กรกฎาคม 2563 บางพลัด กรุงเทพฯ
- ภาพอาทิตย์ทรงกลดแบบเฮโล่ ถ่ายโดย Magnus Edback ที่ประเทศสวีเดน ที่มาภาพ NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap181221.html
เฮโล่ที่มีโอกาสเห็นได้บ่อยมากที่สุดคือ วง 22 องศา (22° halo) มีลักษณะเป็นวงกลมสีรุ้งจาง ๆ ขนาด 22 องศา (ใหญ่กว่าคอโรนา) วิธีวัดองศาบนท้องฟ้าโดยประมาณคือ เหยียดแขนข้างที่ถนัดให้สุด กางมือออกเล็กน้อยสบาย ๆ ใช้ปลายหัวแม่มือปิดดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ ตรงปลายนิ้วก้อยจะอยู่ตรงเส้นวงทรงกลด 22 องศา
4. ภาพอาทิตย์ทรงกลดแบบเฮโล่ 22 องศา ถ่ายโดยผู้เขียน 29 มิถุนายน 2553 อ.หางดง เชียงใหม่
5. ภาพการวัดขนาดองศาของวงทรงกลดโดยใช้วิธีกางมือ นิ้วโป้งอยู่ที่ดวงอาทิตย์ นิ้วก้อยจะอยู่ที่เส้นวงทรงกลด 22 องศา ถ่ายโดยผู้เขียน 17 กันยายน 2554 อ.หางดง เชียงใหม่
6. ภาพเมฆที่ทำให้เกิดอาทิตย์ทรงกลดแบบเฮโล่ 22 องศา ด้านขวามือ คือเมฆซีร์โรสเตรตัส มีลักษณะเป็นแผ่นม่านบางสีขาว ส่วนด้านซ้ายมือเป็นเมฆแอลโตคิวมูลัส ลักษณะเป็นกลุ่มก้อนสีขาว ไม่ทำให้เกิดทรงกลดแบบเฮโล่ ถ่ายโดยผู้เขียน 17 กันยายน 2554 อ.หางดง เชียงใหม่
7. ภาพดวงจันทร์ทรงกลด 2 แบบพร้อมกัน คือแบบคอโรนาและเฮโล่ วงเล็กสีรุ้งตรงกลางเป็นทรงกลดแบบคอโรนา และวงใหญ่รอบคอโรนาเป็นทรงกลดแบบเฮโล่ โอกาสที่ทรงกลด 2 แบบนี้จะเกิดพร้อมกันนั้นยาก ถ่ายโดย Brent Mckean ที่ประเทศแคนาดา ที่มาภาพ NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap200224.html
8. ภาพอาทิตย์ทรงกลดเฮโล่แบบผลึกพีระมิด (pyramidal crystal halo) เป็นทรงกลดที่หายากชนิดหนึ่ง ถ่ายโดยผู้เขียน 15 สิงหาคม 2553 อ.หางดง เชียงใหม่
ข้อควรระวังสำหรับการดูอาทิตย์ทรงกลดคือ ห้ามมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เพราะอาจเป็นอันตรายสำหรับดวงตา อาจใช้ฝ่ามือ หรือสิ่งอื่นปิดบังดวงอาทิตย์ เช่น เสาไฟ ต้นไม้ หลังคา ฯลฯ
9. ภาพการใช้ฝ่ามือปิดดวงอาทิตย์เพื่อความปลอดภัยสำหรับดวงตา และช่วยให้เห็นเส้นทรงกลดได้ง่ายขึ้น ถ่ายโดยผู้เขียน 4 กันยายน 2554 อ.หางดง เชียงใหม่
- แนะนำ บทความเรื่อง “การดูทรงกลดเบื้องต้น” โดย พงศธร กิจเวช (ผู้เขียนบทความนี้) อ่านและดาวน์โหลดฟรีได้จากลิงก์ใน Facebook Page: คนดูดาว stargazer ชื่อไฟล์ halo_intro_v2.pdf
- หนังสือ “All about clouds เล่มนี้มีเมฆมาก” โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ จัดพิมพ์โดย มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2564 ISBN: 978-974-02-1750-3
- เว็บไซต์ Atmospheric Optics (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งศึกษาเรื่องปรากฏการณ์แสงสีต่าง ๆ บนท้องฟ้าโดยเฉพาะ https://atoptics.co.uk