ม.มหิดล มุ่งบรรลุเป้าหมาย UN “สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี และมีสุขภาวะ”

          สาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาพกาย และสุขภาวะที่ดีของผู้สูงวัย คือปัญหาจากการเสื่อมของกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น เมื่อร่วมกับปัญหาในการทรงตัวที่เสื่อมถอยไปตามวัย มักทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ภายหลังจากการประสบอุบัติเหตุหกล้ม จนอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด

          แม้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะทำให้ “การผ่าตัด” สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยที่มีปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดสามารถกลับคืนสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพกาย และมีสุขภาวะที่ดี แต่ยังเกิดเป็นคำถามที่นำไปสู่โจทย์วิจัยถึงประสิทธิภาพในการผ่าตัดเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด โดยเฉพาะเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดขนาดใหญ่ ซึ่งมักมีสาเหตุสำคัญมาจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยว่า อายุของผู้ป่วยที่มากขึ้นมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาหรือไม่

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภพ กนกโรจน์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากที่ได้รับการตีพิมพ์ผลจากการศึกษาวิจัยโดยติดตามผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดขนาดใหญ่ในผู้ป่วย อายุเฉลี่ยที่ 60 ปี จำนวน 53 รายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในวารสารวิชาการระดับ Top1% ของโลก “The American Journal of Sports Medicine” เมื่อเร็วๆ นี้

          ได้ข้อสรุปว่าอายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผ่าตัดเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดขนาดใหญ่ ผู้ป่วยสูงวัยมีผลการรักษาที่ดีขึ้น มีความพึงพอใจที่สูง และโอกาสการผ่าตัดซ้ำที่ต่ำภายหลังจากการผ่าตัดเย็บเส้นเอ็นข้อไหล่ผ่านกล้อง

          มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สามารถทำการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยสูงวัยที่มีภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ได้กลับคืนสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพกาย และมีสุขภาวะที่ดี ตามเป้าหมายหลักขององค์การสหประชาชาติ (United Nation, UN)

          ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดโดยการผ่าตัด คือ “การป้องกัน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภพ กนกโรจน์ ได้แนะนำให้ผู้สูงวัยหมั่นออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อข้อไหล่ด้วยวิธีการบริหารกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ด้วยสายยาง ซึ่งอาจทำโดยใช้สายยางทางการแพทย์ หรือร้อยหนังยางขึ้นเอง แล้วฝึกออกแรงดึงให้ได้อย่างน้อย 10 – 15 ครั้งต่อ 1 เซ็ท จำนวน 3 เซ็ท ร่วมกับการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยรวม

          ซึ่งการออกแรง และจำนวนครั้งของการฝึก ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยเป้าหมายคือเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรออกกำลังกายข้อไหล่ภายใต้การดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

          ผู้สูงวัยที่มีอาการเจ็บบริเวณเอ็นข้อไหล่เรื้อรัง หากยิ่งปล่อยทิ้งไว้ จะยิ่งทำให้ต้องห่างไกลจากการมีสุขภาพกาย และมีสุขภาวะที่ดี ตามเป้าหมาย UN ผู้ป่วยสามารถติดต่อขอเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาภาวะ “เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา และการให้การรักษาได้ที่ ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine Orthopaedic Siriraj) อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 13 โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล Facebook : Sports Medicine Orthopaedic Siriraj

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพประกอบวาดโดย วราภรณ์ เฉลิมสุข ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author