ม.มหิดล พร้อมมอบบริการกายภาพบำบัดสำหรับเด็กด้วยหัวใจ เพื่อการเคลื่อนไหวที่มีความสุข

ด้วยองค์ความรู้ทางกายภาพบำบัดที่ใช้การวิเคราะห์การเคลื่อนไหว ผนวกกับการฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ ผ่านการออกกำลังเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการลดอาการปวดด้วยอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น อัลตร้าซาวด์ หรือเลเซอร์ ฯลฯ

อาจารย์ ดร. กภ.ศิวพร ลิมปนิลชาติ อาจารย์นักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการทำกายภาพบำบัดในเด็ก ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงข้อจำกัดเรื่องการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัดในเด็ก รวมทั้งข้อจำกัดด้านการสื่อสารความรู้สึกของเด็กเมื่อใช้อุปกรณ์ว่า อาจไปยับยั้งการเจริญเติบโตในกระดูกท่อนยาวของเด็กได้

“กระดูกท่อนยาวในเด็กจะมี ”Growth plate“ ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน โดยอยู่บริเวณส่วนต้นและส่วนท้ายของกระดูก โดยจะมีการเจริญเติบโตที่สามารถยืดยาวขึ้นต่อไปได้อีก แต่หากได้รับคลื่นหรือลำแสงที่ก่อให้เกิด “ความร้อนลึก” จากอุปกรณ์ที่ใช้ทางกายภาพบำบัด อาทิ คลื่นอัลตร้าซาวด์ อาจส่งผลทำให้การเจริญเติบโตของเด็กหยุดชะงักได้

“ในการรักษาทางกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะตรวจ ประเมินการเคลื่อนไหว และออกแบบวิธีการรักษา ฟื้นฟู ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ที่จำเพาะกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยไม่เกิดอันตราย“ อาจารย์ ดร. กภ.ศิวพร ลิมปนิลชาติ กล่าว

ด้วยการบูรณาการจิตใจและร่างกายในการรักษาทางกายภาพบำบัด เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาที่มีการบูรณาการจิตใจและร่างกายต่างๆ เช่น เทคนิคที่ผ่อนคลายลดการตึงของระบบประสาท ฯลฯ ซึ่งจะมีผลต่อการผ่อนคลายจิตใจ ลดภาวะตึงเครียดจากความเจ็บป่วยของเด็ก

นอกจากนี้ “การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี” จะยิ่งทำให้เกิดไวัใจ การให้ความร่วมมือในความร่วมมือในการรักษา และทำให้เกิดความก้าวหน้าในการดูแลเยียวยาได้มากยิ่งขึ้น ในเด็กที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว พัฒนาการล่าช้า ไม่ว่าจะด้วยภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ ความพิการทางสมอง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

นอกจากการทำกายภาพบำบัดเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวโดยนักกายภาพบำบัดแล้ว การนำเอาการมีปฏิสัมพันธ์ต่อสัตว์เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ และรวมถึงพัฒนาการทางการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้นอีกด้วย เช่น การทำอาชาบำบัด เป็นต้น

จากการเคลื่อนไหวที่เป็นหนึ่งเดียวกับม้าขณะนั่งบนหลังม้า สามารถช่วยลดอาการเกร็ง และทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ร่วมกับการฝึกการทรงตัว ภายใต้การดูแลของนักอาชาบำบัดทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และมีแรงจูงใจในการฝึกซึ่งส่งผลดีต่อการบำบัดอื่นๆ ด้วยในระยะยาวในสัตว์อื่นๆ ที่นำมาใช้ในการบำบัดทดแทนควรมีการคำนึงถึงโครงสร้างของสัตว์ที่เหมาะสมและความปลอดภัยของเด็กและผู้ให้การบำบัดในการนำมาใช้ พร้อมทั้งศึกษาหลักฐานเชิงประจักษ์ทางด้านประโยชน์และผลจากการบำบัดเพิ่มเติม

นอกจากรายวิชา “การบูรณาการจิตใจและร่างกายในการรักษาทางกายภาพบำบัด“ ซึ่งเป็นหลักสูตรหลังปริญญา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยระบบต่างๆ อีกด้วย

ในส่วนของนวัตกรรมที่จะส่งเสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวของเด็กสามารถทำเป็นลักษณะของสื่อ เช่น คลิปวิดีโอ แผ่นพับต่างๆ หรือกายภาพบำบัดในเด็กผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อการเข้าถึง และดึงดูดความสนใจของเด็ก หรือผู้ปกครองในการนำไปปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลดี ควรออกแบบให้เป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับครอบครัวที่ให้พ่อ-แม่-ลูกสามารถฝึกร่วมกันได้ และอาจจัดทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก โดยการวางเป้าหมายไม่ได้เพียงเพื่อหวังผลเร็ว แต่เพื่อให้เด็กได้มีความสุขกับการเคลื่อนไหว

และนอกจากนี้ที่ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งที่ศาลายา และปิ่นเกล้า ยังพร้อมมอบบริการกายภาพบำบัดด้วยหัวใจเพื่อการเคลื่อนไหวที่มีความสุข ด้วยคลินิกเฉพาะทางที่นอกจากจะช่วยดูแลการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติสำหรับเด็ก ด้วยวิธีการต่างๆ ทางคลินิก และการทำอาชาบำบัดแล้ว ยังพร้อมดูแลบรรเทาอาการเจ็บปวดในภาวะต่างๆ

รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการ และปรับโครงสร้างร่างกายให้เหมาะสม ตลอดจนพร้อมส่งมอบบริการกายภาพบำบัดถึงบ้านผ่านบริการกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล HeaRTs โดยสามารถดูรายละเอียดการให้บริการได้ที่ www.pt.mahidol.ac.th

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author