โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเพียง 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “บี” ซึ่งเป็น “วัคซีนพื้นฐาน” ที่กำหนดให้ฉีดในเด็กแรกเกิดซึ่งคลอดในโรงพยาบาลทุกราย และวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” ซึ่งเป็น “วัคซีนทางเลือก”
แพทย์หญิงเจนจิรา ทองดี แพทย์อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสที่พบในปัจจุบันมีทั้ง เอ บี ซี ดี และอี แม้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจะมีเพียง 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” และ “บี” แต่หากได้รับการฉีดจนครบตามจำนวนเข็มที่กำหนดจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ โดยทั้ง 2 โรคอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากภาวะตับล้มเหลวเฉียบพลัน
ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดสามารถติดต่อได้แตกต่างกัน ได้แก่ “เอ” สามารถติดต่อได้จากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสก่อโรค ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบ “บี” สามารถติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์ และทางเลือด
ไวรัสตับอักเสบ “ซี” ผู้ป่วยมักติดเชื้อจากการได้รับเลือด ที่ไม่ผ่านการคัดกรองไวรัส รวมถึงกลุ่มคนที่ใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้นเลือด การสัก เจาะร่างกาย การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบ “อี” เกิดจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุกที่มีเชื้อไวรัส
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะมีอาการตับอักเสบเฉียบพลันได้ โดยจะมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ไวรัสตับอักเสบบางกลุ่ม ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี และซี จะก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส ลดโอกาสเกิดตับอักเสบและลดความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งได้
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” ในปัจจุบันสามารถป้องกันโรคได้ 95 – 100 % โดยต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “บี” ให้ได้ผล ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม จากผู้ผลิตต่างกันได้ โดยเข็มสอง ควรฉีดห่างจากเข็มแรกประมาณ 1 – 2 เดือน และเข็มสามควรฉีดห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน โดยสามารถป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “บี” ได้ถึงร้อยละ 95
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” และ “บี” เปิดให้บริการทุกวันโดยไม่ต้องนัดหมาย พร้อมเข้ารับการตรวจภูมิก่อนเข้าสู่โปรแกรมฉีดได้ที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.gj.mahidol.ac.th
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210