ฐานข้อมูลเตือนการบริโภคสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน

          ผู้ป่วยที่รับประทานผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยาแผนปัจจุบันพร้อมกัน โดยขาดความรู้ความเข้าใจ อาจเกิดเป็นอันตรายจากการเกิด “อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน” ซึ่งเป็นได้ทั้งการเสริมและต้านฤทธิ์กันของยาทั้ง 2 ขนาน

          รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงณัฏฐินี อนันตโชค หัวหน้าสำนักงานข้อมูลสมุนไพร (Medicinal Plant Information Center) และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง งานจัดทำฐานข้อมูลอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน (Herb-Drug Interaction Database)

          ซึ่งนับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “สำนักงานข้อมูลสมุนไพรแห่งแรกของประเทศไทย” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 44 ปี นับตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2522 ในสมัยท่านคณบดี อาจารย์เภสัชกรประดิษฐ์ หุตางกูร

          โดยฐานข้อมูลดังกล่าวได้รับทุนวิจัยจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมบทความและรายงานการศึกษาวิจัยทั้งในคน และสัตว์ทดลอง โดยใช้หลักการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic Interactions) และเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic Interactions) ฯลฯ

          ตัวอย่างการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันของโรคกลุ่ม NCDs ได้แก่ “โสมเกาหลี” และ “ผักเชียงดา” กับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน หากรับประทานร่วมกันจะยิ่งเป็นการ “เสริมฤทธิ์” ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป ในขณะที่ “ชะเอมเทศ” เมื่อรับประทานร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจ “ต้านฤทธิ์” จนทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล เนื่องจาก “ชะเอมเทศ” มีผลทำให้โซเดียมและน้ำในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้ความดันโลหิตไม่ลดลง เป็นต้น

          ทั้งนี้ อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานสมุนไพรในรูปแบบ “ยาสมุนไพร” หรือ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ร่วมกับ “ยาแผนปัจจุบัน” อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากเป็นการรับประทานสมุนไพรที่อยู่ในรูปของ “อาหาร” เป็นครั้งคราว อาจไม่มีผลแต่อย่างใด

          นอกจาก ฐานข้อมูลอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน (Herb-Drug Interaction Database) ที่เปิดให้บริการประชาชนทั่วไปได้สืบค้นที่เว็บไซต์ของ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งข้อมูลสมุนไพรในรูปแบบบทความและอินโฟกราฟิกที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย และช่องทาง “ถาม-ตอบ” ไว้คอยดูแลและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วย “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล

          นอกจากนี้ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก หรือ CosmeHerb ร่วมกับศูนย์ NANOTEC กับ NBT ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author