พรรณทิพย์ สมมิตร
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
แนวโน้มของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มตามไปด้วย จากข้อมูลคาดการณ์ความต้องการอาหารสัตว์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560–2567 พบว่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ล้านตันต่อปี ขณะที่ภัยแล้งจากเอลนิญโญส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับสถานการณ์สงครามในหลายประเทศทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ทั้งปลาป่น ข้าวโพด และถั่วเหลืองจึงขยับราคาสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30–40 เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับต้นทุนค่าอาหารสัตว์สูงถึงร้อยละ 60-70 ของต้นทุนทั้งหมด จนไม่อาจประกอบอาชีพได้ต่อไป
เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อหาหนทางลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้ได้มากที่สุด วิธีการหนึ่งคือ การนำวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีในท้องถิ่นมาใช้ทดแทนอาหารสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้เกษตรกรต้องทราบความต้องการโภชนาการของสัตว์ที่เลี้ยง ตลอดจนคุณค่าทางโภชนะของวัสดุทางการเกษตรที่จะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อให้บริหารจัดการวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการให้อาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้โดยไม่ส่งผลต่อการให้ผลผลิต
สัตว์กินอาหารอะไร ?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประเภทของอาหารสัตว์เพื่อจะได้เข้าใจว่าวัสดุทางการเกษตรแต่ละชนิดเป็นประเภทใดและนำไปประยุกต์ใช้งานต่อได้ง่ายขึ้น อาหารสัตว์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
อาหารหยาบ (roughage) หมายถึง อาหารที่มีเยื่อใยสูงกว่าร้อยละ 18 และมีสารอาหารย่อยได้ทั้งหมดน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ พวกพืชต่าง ๆ เช่น พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลถั่ว อาหารหยาบแบ่งเป็น 3 ชนิดดังนี้
- อาหารหยาบแบบสดหมายถึง อาหารที่มีความชื้นสูงกว่าร้อยละ 85 มีสีเขียวสด เช่น หญ้าสด ต้นถั่วสด ต้นธัญพืชสดต่าง ๆ โดยอาจแบ่งย่อยตามคุณภาพได้อีก 4 ชนิด ได้แก่ อาหารหยาบสดคุณภาพดีมาก อาหารหยาบสดคุณภาพดี อาหารหยาบสดคุณภาพปานกลาง และอาหารหยาบสดคุณภาพต่ำ
- อาหารหยาบแห้งหมายถึง อาหารที่มีความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยนำอาหารหยาบสดตากแดดให้แห้งหรือเป็นอาหารหยาบสดที่แห้งแล้ว สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น ตอซังฟางข้าว แบ่งตามคุณภาพเป็น 2 ชนิด คือ อาหารหยาบแห้งคุณภาพสูงและอาหารหยาบแห้งคุณภาพต่ำ
- อาหารหยาบหมัก หมายถึง พืชอาหารสัตว์ที่ถูกเก็บไว้โดยปราศจากออกซิเจน เพื่อให้เกิดจุลินทรีย์ จะมีกลิ่นหอม สัตว์ชอบ
สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ ใช้ประโยชน์จากอาหารหยาบได้ดี โดยสำรอกอาหารที่ย่อยแล้วออกมาเคี้ยวเอื้องเพื่อย่อยสลายสารที่มีในพืชและกระตุ้นการย่อยอาหาร
อาหารข้น (concentrate) หมายถึง อาหารที่มีเยื่อใยน้อยกว่าร้อยละ 18 และมีสารอาหารย่อยได้สูง แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
- อาหารหลักหรืออาหารพื้นฐานหรืออาหารพลังงาน หมายถึง ชนิดของวัตถุดิบที่มีปริมาณสูงสุดในสูตรอาหาร เช่น ปลายข้าว รำละเอียด
- อาหารเสริมโปรตีนหมายถึง อาหารที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ใช้ผสมกับอาหารพื้นฐานเพื่อเพิ่มโปรตีน แบ่งได้เป็นอาหารเสริมโปรตีนจากพืช อาหารเสริมโปรตีนจากสัตว์ และอาหารเสริมโปรตีนสังเคราะห์
- อาหารเสริมแร่ธาตุ หมายถึง อาหารที่มีแร่ธาตุสูง พบทั้งในธรรมชาติและที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น
- อาหารเสริมวิตามิน หมายถึง อาหารที่มีวิตามินสูง พบได้ในธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น
เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ด้วย “หัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง”
ปัจจุบันมีวัสดุทางการเกษตรราคาถูกในพื้นที่มากมายที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ แต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและบางส่วนกลับก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ประเทศไทยประสบปัญหาการจัดการเศษซากวัสดุทางการเกษตรอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการฟางข้าว ใบอ้อย ใบข้าวโพด ซังข้าวโพด และเหง้ามันสำปะหลัง ซึ่งล้วนเป็นเศษซากทางการเกษตรที่มีปริมาณสูงมากและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมากเช่นกัน
ที่ผ่านมานอกจากนำฟางข้าวไปใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ ยังมีเศษวัสดุอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นพืชสด เศษวัสดุจากโรงงาน หรือผลพลอยได้ทางการเกษตรอื่น ๆ ด้วย เช่น เปลือกสับปะรด ฟักทองแคะเมล็ด หรือแม้กระทั่งเปลือกทุเรียน ถึงแม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูปต่าง ๆ นำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดในการนำไปใช้งาน เนื่องจากวัสดุเหล่านี้เก็บไว้ได้ไม่นาน เมื่อใช้ไม่หมดมักจะเกิดปัญหาเน่าเสียและไม่เป็นที่ต้องการ ก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชน หรือบางกรณีเกษตรกรนำวัสดุเหล่านี้กองหมักหมมจนเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและนำไปให้สัตว์กินจนเกิดอันตรายถึงชีวิต
สวทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา พัฒนาวิธีการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยพัฒนา “หัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง” ประกอบด้วยจุลินทรีย์ประเภทแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ และเอนไซม์ที่มีประโยชน์ ใช้งานง่ายทั้งในสภาพมีอากาศและไม่มีอากาศ เกษตรกรนำไปใช้หมักเพิ่มโภชนะและเพิ่มการย่อยของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์แบบเดิมที่อัดไล่อากาศและไม่ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ensiling process) เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ช่วยให้อาหารหมักที่ได้มีโภชนะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าโปรตีนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2-4 (ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุเกษตร) ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.25 บาท/กิโลกรัม และที่สำคัญเกษตรกรรายย่อยสามารถผลิตอาหารหมักได้เอง ไม่ต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง อาหารสัตว์ที่ทำด้วยวิธีนี้เมื่อเก็บในถังปิดสนิทสามารถเก็บไว้ได้ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยไม่เน่าเสีย นอกจากนี้ยังช่วยให้เกษตรกรในชุมชนเกิดรายได้หมุนเวียนจากการเป็นผู้รวบรวมวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์หมักต้นทุนต่ำคุณภาพดีจำหน่ายในชุมชน เป็นรายได้เพิ่มอีกด้วย
ตัวอย่างโมเดลธุรกิจการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งจากเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารสัตว์หมัก
วิธีใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพสำหรับหมักวัสดุทางการเกษตร
การขุนโคด้วยอาหารหมักจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนจะให้อาหารโคขุนวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น ปริมาณอาหารที่ให้จะสัมพันธ์กับน้ำหนักโค เช่น โคหนัก 300 กิโลกรัม ให้อาหารข้น (อาหารสำเร็จรูป) ร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัว (3 กิโลกรัม) อาหารหยาบ เช่น หญ้า ให้ร้อยละ 4 ของน้ำหนักตัว (12 กิโลกรัม) ฟางร้อยละ 3 ของน้ำหนักตัว (9 กิโลกรัม)
โคขุนสายพันธุ์ชาร์โรเลส์เลือด 50 เปอร์เซ็นต์ จากฟาร์มเกษตรกรเครือข่ายสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
ตัวอย่างการใช้อาหารหมักเลี้ยงโคขุนเพื่อลดต้นทุนของสุนิสาฟาร์ม จังหวัดพะเยา
การให้อาหารโคขุน (โค 1 ตัว) ให้ทุกวัน วันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น
- อาหารหยาบ เปลือกข้าวโพดหมัก มื้อละ 10 กิโลกรัม
- อาหารข้น ให้อาหารข้นหมัก ส่วนผสมประกอบด้วย ฟักทองหมัก 1.40 กิโลกรัม มันสำปะหลังหมัก 1.40 กิโลกรัม รำกลาง 3.50 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 0.30 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน (ถ้าอาหารข้นเหนียวเกินไป ให้เติมน้ำสะอาดเพื่อลดความหนืดของอาหาร)
อาหารหมักจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ใช้เลี้ยงโคขุนของสุนิสาฟาร์ม ก. เปลือกข้าวโพดหมัก ข. ปลายจมูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมัก ค. มันสำปะหลังหมัก ง. ฟักทองหมัก
อาหารสัตว์หมักช่วยเพิ่มจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์
การใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ นอกจากนำของ “ราคาถูก” มาหมักด้วยหัวเชื้อประสิทธิภาพสูงให้กลายเป็นของ “แพง” แล้ว ยังมีประโยชน์ด้านอื่นอีก เช่น การเลี้ยงไก่ไข่ด้วยฟักทองตกเกรด ช่วยเพิ่มโอเมกา 3 ในไข่ไก่ เช่นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ที่ใช้ระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ (zero waste agriculture) ได้นำผลผลิตฟักทองตกเกรดและเศษเหลือทิ้งจากการตัดแต่งมาหั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กแล้วหมักด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูงเป็นเวลา 14 วัน แล้วนำไปเป็นอาหารเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารไก่ โดยใช้ฟักทองหมักประมาณ 200 กรัมต่อตัวต่อวัน พบว่า ไก่ไข่ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ไข่ไก่ที่ได้มีคุณภาพดี ไข่มีขนาดฟองปานกลางถึงใหญ่ (เฉลี่ย 60-65 กรัม = เบอร์ 1-0) เปลือกเรียบสมบูรณ์ ไข่แดงมีสีเหลืองปนส้ม สีสด เมื่อนำไข่ไก่ไปวิเคราะห์ทางเคมีพบว่ามีโอเมกา 3 สูงถึง 1,195.45 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม (ไข่ไก่ปกติ 1 ฟอง มีน้ำหนัก 61 กรัม มีปริมาณโอเมกา 3 เท่ากับ 729 มิลลิกรัมต่อฟอง)
กินอะไรได้อย่างนั้น You are what you Eat
สิ่งมีชีวิตต่างต้องการกินอาหารเพื่อนำไปสร้างเป็นพลังงานสำหรับการเจริญเติบโต ให้ผลผลิต และดำรงชีวิต จะดีกว่าไหมหากอาหารที่นำมาเลี้ยงสัตว์จะเป็นอาหารที่ดี ราคาถูก และยังช่วยกำจัดของเสียไม่ให้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย การใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารสัตว์ไม่ได้แปลว่านำของเสียหรือของที่ไม่ดีมาให้สัตว์กิน แต่คือการรู้จัก “คุณค่า” ของวัสดุเหลือทิ้งเหล่านั้นและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้ดีขึ้น มีราคาถูกลง และง่ายต่อการบริหารจัดการของเกษตรกร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-เอกสารเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ https://www.arda.or.th/detail/6127
-เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ : สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง อาหารขนและอาหารหยาบสำหรับโคนม
-ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ (2557). การพัฒนาอาหารหมักจากเศษเหลือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเลี้ยงโคขุน (รายงานผลการวิจัย). พะเยา : มหาวิทยาลัยพะเยา
-ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ (2556). การพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตอาหารหมักจากวัสดุทางการเกษตรที่หาง่ายในจังหวัดพะเยาเพื่อเลี้ยงโคเนื้อ (รายงานผลการวิจัย). พะเยา : มหาวิทยาลัยพะเยา