“กระดูก” คือ อวัยวะที่แข็งแรงที่สุดของร่างกาย แต่ความแข็งแรงนั้นย่อมเสื่อมถอยลงตามเวลาของการใช้ เช่นเดียวกับโรคที่มาพร้อมกับความสูงวัย และค่าใช้จ่ายทางสุขภาวะที่นับวันยิ่งมากขึ้นตามจำนวนประชากรในกลุ่มผู้สูงวัยที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องอาศัยการนำเข้ามีราคาสูง
ในการผ่าตัดข้อเทียมนั้น ค่าใช้จ่ายจะมากหรือน้อย นอกจากขึ้นอยู่กับการเลือกคุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำข้อเทียมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยในการผ่าตัดด้วย
ด้วยความพยายามของ “ทีมแพทย์นวัตกร” ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการคิดค้นอุปกรณ์ช่วยวัดตำแหน่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ทำให้วันนี้ ผู้ป่วยสูงวัย ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มหลักที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดดังกล่าวยิ้มได้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปพน สง่าสูงส่ง ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ได้คิดค้น “นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยวัดตำแหน่งผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพก”
ซึ่งได้ดำเนินการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้วโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังทำให้ความฝันที่จะเห็นผู้ป่วยสูงวัยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพก ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นใกล้เป็นจริง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน”
จากประสบการณ์ทำงานในห้องผ่าตัด และใจรักในการเป็น “แพทย์นวัตกร” ได้ทำให้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปพน สง่าสูงส่ง และทีมวิจัย ได้หยิบยกปัญหาและอุปสรรคจากการทำงาน มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานนวัตกรรมที่ไม่มีความซับซ้อน และสามารถแก้ไขปัญหาหน้างานได้โดยไม่จำกัดสถานที่
เริ่มต้นจากการพบว่า การวัดตำแหน่งผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพกที่เคยทำกันมาประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ยุ่งยาก ราคาแพง และมีใช้กันเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ จึงได้ร่วมกับคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นอุปกรณ์อย่างง่ายขึ้นใช้เอง โดยมีส่วนประกอบหลักเพียง 2 ส่วน คือ โมเดลอุปกรณ์ข้อเทียมที่ขึ้นรูปผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเซนเซอร์แบบจำเพาะที่ใช้งานร่วมกับโปรแกรมควบคุม
แม้ “นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยวัดตำแหน่งผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพก” ในปัจจุบันจะได้จัดทำเป็นโมเดลต้นแบบที่ผ่านการทดสอบความแม่นยำในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้รักษาในผู้ป่วยจริง คาดว่าเมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว จะสามารถใช้ได้จริงในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปพน สง่าสูงส่ง ได้กล่าวถึงการตั้งตำแหน่งเบ้าสะโพกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากวางผิดอาจทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุด หรืออาจเกิดปัญหาข้อสะโพกเทียมชนกับเบ้าสะโพกได้
จากอุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน และสามารถนำไปใช้ได้ในทุกที่นี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ลงกว่าร้อยละ 80 หรือจาก 30,000 บาท เหลือเพียง 5,000 บาท โดยมีความแม่นยำที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบกับการช่วยผ่าตัดด้วยคอมพิวเตอร์
จุดที่น่าสนใจนอกจากราคาของอุปกรณ์ที่ไม่สูงจนเกินไป คือ ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม จากความพยายามของทีมวิจัยที่ออกแบบให้อุปกรณ์บางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากร และลดโลกร้อน จากการช่วยลดปริมาณขยะจากอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้งได้
ซึ่งความฝันที่จะได้เห็นผู้ป่วยสูงวัยที่ต้องเข้ารับผ่าตัดสำหรับเปลี่ยนข้อสะโพกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะเป็นจริงไม่ได้หากแพทย์ไม่ลุกขึ้นมาเป็นนวัตกรเสียเอง โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปพน สง่าสูงส่ง มองว่า “การทำวิจัยทางการแพทย์ ผู้ที่ทำวิจัยได้ดีที่สุด คือ ผู้ที่เป็นแพทย์เอง”
นอกจากแพทย์แล้ว ทุกคนก็สามารถเป็น “นวัตกร” ได้ หากเปิดใจ และเปิดโอกาสค้นพบความเป็น “นวัตกร” ในตัวเอง เพียงความตั้งใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวัน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210