ดาวเทียม “โฮป (Hope)” น้ำหนัก 1.3 ตัน ทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด H2-A จากฐานปล่อยจรวดทาเนกาชิมะของญี่ปุ่น ในวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นการเดินทางระยะทางราว 500 ล้านกิโลเมตร คาดว่าจะถึงจุดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 (2021) เพื่อทำหน้าที่สำรวจสภาพอากาศและภูมิอากาศของดาวอังคาร
เป้าหมายการเดินทางของดาวเทียมโฮป ทางกลุ่มวิเคราะห์โครงการสำรวจดาวอังคาร (Mars Exploration Program Analysis : MEPAG) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของนาซา ได้เป็นผู้ช่วยกำหนดภารกิจเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ โดยมีเป้าหมายของการเดินทางเป็นการศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายของพลังงานผ่านชั้นบรรยากาศ จากชั้นบนลงมาชั้นล่าง โดยจะทำการศึกษาตลอดทั้งวัน และตลอดทุกฤดูของปี นอกนจากนั้นดาวเทียมนี้จะแกะรอยฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร และศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับอะตอมที่เป็นกลางของไฮโดรเจนและออกซิเจนที่บริเวณจุดสูงสุดของชั้นบรรยากาศ โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่าอะตอมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการกัดเซาะชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจากอนุภาคที่ทรงพลังที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ การศึกษาในเรื่องนี้จะทำให้เข้าใจว่าเหตุใดน้ำส่วนใหญ่บนดาวเคราะห์จึงเหือดแห้งไปจากเดิม
ในการสังเกตการณ์เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ดาวเทียมโฮปจะโคจรรอบดาวอังคารในแนวเส้นศูนย์สูตร ระยะห่างจากดาวอังคารประมาณ 22,000 กิโลเมตร ถึง 44,000 กิโลเมตร การที่ต้องโคจรเป็นวงโคจรที่ใหญ่และเป็นรูปไข่ เพราะต้องการเห็นถึงพื้นผิวดาวอังคารอย่างละเอียดในทุกช่วงเวลาของวัน ดาวเทียมดวงนี้จะลอยอยู่เหนือภูเขาไฟโอลิมปัสมอนส์ (Olympus Mons) ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาลในช่วงเวลาที่แตกต่างกันของแต่ละวัน นอกจากนี้จะมีบางช่วงที่ดาวอังคารหมุนวนอยู่ใต้ดาวเทียมดวงนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ได้เห็นภาพของดาวอังคารเต็มดวง
ดาวเทียมโฮปดวงนี้ เปรียบเสมือนยานแห่งแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยดึงดูดให้คนหนุ่มสาวในยูเออี และทั่วภูมิภาคอาหรับหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนและการศึกษาระดับสูงมากขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติม>> https://www.bbc.com/thai/international-53408161