นกเงือกเป็นนกโบราณขนาดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 45 ล้านปี ลักษณะเด่นคือ มีจะงอยปากหนาใหญ่ มีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง และส่งเสียงร้องได้ดังกังวาน
ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 12 ชนิด และเพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565 หนึ่งชนิด คือ “นกชนหิน” ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) ตาม IUCN Red List
สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิด ไม่ว่าจะมีชีวิต ไม่มีชีวิต เป็นซาก ก็ห้ามพยายามล่า ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามขาย ห้ามเลี้ยง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามมีไว้ในครอบครอง ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก โดยไม่ได้รับอนุญาต
“นกแก๊ก (แกง)” เป็นนกเงือกที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีขนาด 70-90 เซนติเมตร ส่วน “นกกก (กาฮัง, กะวะ)” เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุด มีขนาด 120-150 เซนติเมตร
นกเงือกเป็นที่รู้จักว่ามี “รักแท้” จะจับคู่แบบเฉพาะคู่ (monogamy) ผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมและอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต ถ้าตัวใดตัวหนึ่งตายไป อีกตัวอาจจับคู่ใหม่ได้
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน นกเงือกเริ่มจับคู่และเสาะหาโพรงรังที่เหมาะสมให้ตัวเมียออกไข่และฟักไข่ เมื่อได้โพรงรังแล้วนกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงให้แคบลง โดยใช้มูล เศษไม้ และเศษดิน เหลือเพียงช่องแคบพอให้ตัวผู้ส่งอาหารให้เท่านั้น
ช่วงเวลาในการอยู่ในโพรงของแม่นกและลูกนกของนกเงือกแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วประมาณ 4–6 เดือน เมื่อลูกนกออกจากรัง พ่อกับแม่นกยังคอยเลี้ยงลูกนกต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
นกเงือกกินทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก (omnivore) จึงเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศป่า ทั้งในแง่การกระจายพันธุ์พืช และการควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลาน ในระบบนิเวศให้มีความสมดุล
ที่มา
– ซ่อมโพรงพัง สร้างรังรักษ์นกเงือก, สาระวิทย์ ฉบับที่ 107 กุมภาพันธ์ 2565
– นกแก๊ก, ห้องภาพสัตว์ป่าไทย, สาระวิทย์ ฉบับที่ 107 กุมภาพันธ์ 2565
– รัฐบาลไทย (https://bit.ly/3YJpbIP)
– มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (https://bit.ly/3lxMOWI)