เรื่องโดย ชวินธร อัครทัตตะ
จันทบุรีเป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสวนทุเรียน พืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและทำรายได้สู่ประเทศสูงถึงหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดไป
ผมเป็นลูกหลานชาวสวนทุเรียนในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ทั้งชีวิตผมเห็นพ่อกับปู่ผูกพันกับสวนมาตลอด ปู่ของผม นายวิวัฒน์ อัครทัตตะ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมายาวนานกว่า 60 ปี มักจะสอนเสมอว่า “ทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ถ้าแหล่งน้ำไม่ดีและไม่เพียงพอห้ามปลูกทุเรียนเด็ดขาด”
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ผมติดตามข่าวภาวะเอลนิญโญมาโดยตลอด พบว่าประเทศไทยกำลังจะพบกับภัยแล้งและอากาศร้อนจัด ซึ่งความร้อนนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ถ้าไม่มีน้ำจากชลประทานให้ทุเรียนแล้วจะรับมืออย่างไร” ผมตั้งคำถามกับตัวเอง
ด้วยความเป็นห่วงสวนทุเรียนของปู่กับพ่อ และญาติพี่น้องผู้ปลูกทุเรียนเช่นเดียวกัน ผมจึงเข้าปรึกษากับ ผศ. ดร.สรวงอัยย์ อนันทวิจักษณ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ถึงวิธีการรับมือกับภัยแล้งที่ชาวสวนอย่างเราสามารถทำได้ด้วยตัวเองและทันเวลา ก่อนจะออกไปสำรวจ สัมภาษณ์ และรวบรวมข้อมูลด้วยกัน เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และหาวิธีการจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอในภาวะวิกฤตภัยแล้ง
“เราควรสัมภาษณ์ชาวสวนและผู้นำท้องถิ่นประมาณ 150 คน พื้นที่สวนรวมกันประมาณ 800 ไร่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวอย่างที่เพียงพอ” ผศ. ดร.สรวงอัยย์แนะนำจำนวนการศึกษาในครั้งนี้
สิ่งที่เราอยากได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ การช่วยให้ชาวสวนทุกคนหาวิธีให้ตัวเองรอดพ้นจากการขาดแคลนน้ำจากวิกฤตภัยแล้งอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
คุณนิพนธ์ชัย ดาวประกาย หนึ่งในเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนให้ข้อมูลว่า “สระน้ำที่ขุดไว้หรือฝายของ อบต. ในช่วงที่แล้งจริง ๆ น้ำก็แห้ง วิธีที่เร็วและได้ผลดีคือเจาะบ่อบาดาลในสวนตัวเอง”
แต่จากการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่ายังมีปัญหาใหญ่อีกหนึ่งเรื่องคือความไม่สม่ำเสมอของกระแสไฟฟ้าในต่างจังหวัด ซึ่งตอนกลางวันถ้าทุกคนเปิดเครื่องสูบน้ำพร้อม ๆ กัน ไฟฟ้ามักจะตก (กำลังไฟฟ้าลดลง) ทำให้เครื่องสูบน้ำและปั๊มบาดาลทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้น้ำออกมาน้อยไปด้วย
“แม้ว่าหลายพื้นที่ในอำเภอท่าใหม่มีท่อน้ำดิบจ่ายน้ำมาจากทางราชการ แต่ปัญหาคือ น้ำดิบมาเป็นรอบ ๆ ต้องรอประมาณ 4-5 วันจึงจะถึงคิวรับน้ำ และบางครั้งมีปัญหาท่อน้ำแตก หรือเครื่องสูบน้ำมีปัญหา ซึ่งต้องรอการซ่อมแซมหลายวัน โดยมากชาวบ้านที่ขุดบ่อบาดาลและเปิดปั๊ม 24 ชั่วโมง จะได้น้ำที่แน่นอนกว่า” คุณเอกชัย สัจจโภชน์ ปลัด อบต.เขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ ให้ข้อมูลแก่พวกเรา
คุณดำรงค์ วิชาดี นายช่างในอำเภอท่าใหม่ ที่ได้ติดตั้งปั๊มบ่อบาดาลในหลาย ๆ สวนแนะนำว่า “ลองใช้ปั๊มบาดาลแบบโซลาร์เซลล์ผสมไฟฟ้าจากหลวงนะครับ น้ำที่ได้จะสม่ำเสมอกว่า”
กล่องควบคุมการใช้งานไฟจากแสงอาทิตย์และไฟฟ้าจากภาครัฐ (ระบบไฮบริด) สำหรับจ่ายให้ปั๊มน้ำบาดาล
เมื่อผมและอาจารย์สรวงอัยย์รวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่และนำมาวิเคราะห์ก็พบว่า การเจาะบ่อบาดาลแล้วใช้ระบบปั๊มน้ำแบบไฮบริด คือใช้โซลาร์เซลล์ร่วมกับไฟฟ้าจากภาครัฐจะได้ผลคุ้มค่าที่สุด ระบบนี้แก้ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ หรือแสงอาทิตย์อ่อนในตอนกลางวันได้ ปั๊มบาดาลทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ และได้ปริมาณน้ำออกมามากตลอดช่วงเวลา โดยให้น้ำได้ประมาณ 668,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อบาดาล หากมีพื้นที่สวนทุเรียน 40 ไร่ ควรลงทุนเจาะบ่อบาดาล 2 บ่อ และติดตั้งระบบ โซลาร์เซลล์แบบไฮบริด 2 ชุด รวมถึงสร้างสระยางขนาด 60×30 เมตร ลึก 5 เมตรไว้เก็บน้ำอีก 2 สระในกรณีที่สวนไม่มีสระพักน้ำ ทั้งหมดนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 บาทต่อชุด ถึงจะดูราคาแรงไปหน่อย แต่ถ้ามองถึงความคุ้มค่า ช่วยลดความเสียหาย และใช้งานได้ห้าปีสิบปี ก็น่าจะเพียงพอต่อการตัดสินใจ
ผมได้ออกเผยแพร่ข้อมูลและให้คำแนะนำนี้แก่ชาวสวน ซึ่งส่วนใหญ่พอใจและให้การตอบรับเป็นอย่างดี หวังว่าการศึกษาของผมจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั้งในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่น ๆ ฝ่าฟันวิกฤตภัยแล้งนี้ไปได้ ร่วมกันสร้างผลผลิตทุเรียนคุณภาพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ครอบครัวและประเทศชาติต่อไป