ปลูกผักหน้าร้อนอย่างไรให้รอด !

เลอทีชา เมืองมีศรี
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


การปลูกผักเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนมากในปีนี้ แม้การปลูกผักต้องใช้แสง แต่ปริมาณแสงและความร้อนที่มากเกินไปย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ตั้งแต่เพาะกล้าแล้วกล้าไม่งอก พืชผักเหี่ยวเฉา พืชไม่โต นอกจากนี้ฤดูร้อนยังเป็นช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชมากและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ได้ผลผลิตลดลง

สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกพืชผักและเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม แต่เกษตรกรสามารถเตรียมพร้อมได้ตั้งแต่เข้าใจสภาพพื้นที่เพาะปลูกและรู้จักชนิดพืชผักที่เลือกปลูกอย่างดี ทั้งพันธุ์ วิธีการปลูก โรคและแมลงศัตรูพืช ไปจนถึงการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ผลผลิตเสียหาย ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องรู้จักพืชให้มากที่สุดว่า ปลูกอะไร เพราะอะไร ดูแลอย่างไร และต้องเข้าใจสภาพพื้นที่ เพราะไม่มีใครรู้จักพื้นที่ได้ดีกว่าเจ้าของ

การปลูกผักในหน้าร้อนให้ได้ผลผลิตจึงเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชที่เหมาะสม การเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยลดความร้อน วิธีการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรู รวมถึงดูแลไม่ให้ผักเหี่ยวในช่วงที่อากาศร้อน

การเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชที่ทนต่ออากาศร้อน

พันธุ์พืชแต่ละพันธุ์เจริญเติบโตไม่เท่ากัน บางชนิดเจริญเติบโตไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล ตอบสนองสภาพอากาศแตกต่างกัน พืชบางชนิดปลูกในบางฤดูกาลไม่ต้องจัดการมาก แต่ในบางฤดูกาลต้องลงทุนรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในฤดูร้อนควรเลือกผักที่ใช้น้ำน้อยและทนต่ออากาศร้อนได้ดี เช่น ฟักทอง แตงกวา บวบ มะระ มะเขือเปราะ กระเจี๊ยบเขียว พริก ผักบุ้ง ผักกาดเขียว คะน้า

ดิน

ดินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ละพื้นที่มีสภาพดินไม่เหมือนกัน วิธีการหรือสูตรปรับปรุงดินจึงแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักโครงสร้างดิน เป็นดินอะไร สภาพดินเป็นกรด-ด่างมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อแก้ไขให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชได้

การวิเคราะห์ดินไม่ได้หมายความว่าต้องส่งดินเข้าห้องปฏิบัติการเท่านั้น เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ดินจากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมได้ เช่น ดูสภาพพืชที่ปลูกหรือหญ้าที่ขึ้นบนแปลง ราก ลำต้นและใบของพืชจะมีท่อน้ำท่ออาหารที่เชื่อมต่อกัน เมื่อพืชขาดน้ำหรือน้ำไม่พอ ใบจะเหี่ยว

การเตรียมดิน ควรพรวนดินให้ร่วนซุยเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก และเตรียมดินให้ลึกมากขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อเก็บความชื้นไว้ในดินได้มากขึ้น หน้าร้อนพืชต้องการน้ำมาก แต่ระวังการให้น้ำจนดินมีน้ำขังหรือแฉะเกินไป รากพืชไม่สามารถดูดน้ำไปใช้ประโยชน์ได้จะทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายได้เช่นกัน

การเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยลดความร้อน

โรงเรือนปลูกพืช

การปลูกพืชในโรงเรือนช่วยลดความเสี่ยงหรือความเสียหายของผลผลิตได้ เตรียมพื้นที่ได้ง่าย ผลิตต่อเนื่องได้ คาดการณ์ผลผลิตได้ และรู้ต้นทุนการผลิตแน่นอน การปลูกพืชในโรงเรือนช่วยปกป้องพืชจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยช่วยปรับสภาพอากาศภายในโรงเรือนให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ช่วยควบคุมแสงและอุณหภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชื้นของดินจากฝน ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยได้ง่าย เพิ่มความสามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชและโรคพืชให้ลดลงได้ อีกทั้งยังวางแผนการผลิตได้อย่างแม่นยำ ทำให้ได้ผลผลิตปริมาณสูงและคุณภาพดี และที่สำคัญช่วยเพิ่มช่วงเวลาการเพาะปลูกให้เพาะปลูกได้ทุกฤดู

โครงสร้างของโรงเรือนมีหลายรูปแบบตามความต้องการและงบประมาณ ได้แก่

แบบหน้าจั่วและแบบโค้ง กันแดดกันฝนได้ดี แต่ไม่มีช่องระบายอากาศใต้หลังคา โรงเรือนรูปแบบนี้ควรสร้างให้สูง เนื่องจากระบายอากาศร้อนได้ยาก ถ้าทำเตี้ยเกินไปจะทําให้ความร้อนสะสมภายในโรงเรือน

แบบ ก ไก่ สามารถลดอุณหภูมิได้ดีกว่าโรงเรือนรูปแบบทรงโค้ง เนื่องจากหลังคามีช่องเปิด 1 ช่องให้อากาศไหลผ่าน

แบบจั่ว 2 ชั้น โรงเรือนรูปแบบนี้มีต้นทุนค่าก่อสร้างสูง แต่อากาศภายในโรงเรือนถ่ายเทได้ดี ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะปลูกหลังคาจั่ว 2 ชั้น ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 24 เมตร สูง 4.8 เมตร โดยคำนวณความสูงและระยะห่างระหว่างชั้นหลังคาจากแบบจำลองในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คุณสมบัติเด่นของโรงเรือนรูปแบบ สวทช. คือ เพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทอากาศให้เป็นไปตามหลักการไหลแบบธรรมชาติ เมื่ออุณหภูมิในโรงเรือนสูงขึ้น อากาศจะลอยระบายออกมาทางช่องว่างระหว่างหลังคา 2 ชั้น

เกษตรกรอาจติดตาข่ายกันแมลงที่โรงเรือนเพื่อการป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ แต่ตาข่ายไม่สามารถป้องกันแมลงได้ทุกชนิด เช่นเดียวกับไม่มีตาข่ายชนิดไหนกันเพลี้ยไฟได้ อย่างไรก็ตามหากบริหารจัดการแปลงปลูกในโรงเรือนไม่ดี การติดตาข่ายกันแมลงจะสร้างปัญหามากกว่าการปลูกนอกโรงเรือน ดังนั้นการเลือกใช้ตาข่ายกันแมลง เกษตรกรต้องรู้ว่าจะป้องกันแมลงชนิดใดบ้าง มีขนาดตัวแค่ไหน ซึ่งความถี่ของตาข่าย หากมีความถี่มาก การระบายอากาศจะไม่ดี จะทำให้ภายในโรงเรือนมีความร้อนสะสมส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผักได้

สำหรับการลดความร้อนในโรงเรือนปลูกพืช เกษตรกรสามารถให้น้ำถี่ขึ้นหรือติดตั้งระบบพ่นหมอก  แต่ควรให้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากให้มากเกินไปจะเป็นผลเสียต่อพืช

ตาข่ายพรางแสง

ตาข่ายพรางแสง (shading net) ที่คนไทยเรียกกันว่า ซาแรน หรือ สแลน มีหน้าที่กรองแสงแดดเพื่อไม่ให้พืชได้รับแสงมากเกินไป ลดความร้อน ลดความแรงของลมและฝน การเลือกเปอร์เซ็นต์การกรองแสงของตาข่ายพรางแสงขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและช่วงอายุของพืชที่ปลูก นอกจากนี้สีของตาข่ายก็ให้ประโยชน์แตกต่างกัน

  • สีดำ ให้แสงสีขาวธรรมชาติ พืชใช้สังเคราะห์แสงได้ตามปกติ เหมาะกับการสร้างร่มเงาให้พืช
  • สีเงิน ให้แสงสีขาวธรรมชาติ เเสงผ่านได้มากและกระจายผ่านได้ดีกว่าสเเลนสีดำ เหมาะกับพืชที่ต้องการแสงมาก แต่ต้องการลดอุณหภูมิ
  • สีเขียว แสงที่ผ่านมาจะเป็นแสงสีเขียว ซึ่งพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย เหมาะกับกรณีที่ต้องการให้พืชยืดสูงขึ้นหรือมีกิ่งก้านยาวขึ้น

วัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นหรือการห่มดิน

การปลูกพืชในฤดูแล้งไม่ควรปล่อยให้ดินตากแดด ควรห่มดินเพื่อรักษาความชื้นดินและทำให้ดินเย็น ซึ่งจะส่งเสริมให้รากพืชเจริญเติบโตได้ดี หาอาหารได้ดี หากดินร้อนเกินไป รากพืชจะไม่ดูดซับอาหารและส่งผลให้พืชไม่เจริญเติบโต

วัสดุคลุมดินมีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น ฟาง ใบไม้แห้ง พลาสติก ซึ่งก็มีข้อดีแตกต่างกันไป

การใช้ฟางคลุมดิน ช่วยไม่ให้แสงแดดส่องกระทบผิวดินโดยตรงและลดการระเหยของน้ำ ทำให้ดินมีความชื้น ช่วยรักษาอุณหภูมิหน้าดินให้เหมาะสม ดินไม่สะสมความร้อนจากแสงแดดจนเป็นสาเหตุให้รากพืชตาย และยังช่วยให้จุลินทรีย์ในดินเติบโตได้ดี สามารถย่อยสลายแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชได้อีกด้วย นอกจากนี้ฟางเป็นอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ ทำให้ดินและพืชได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นเพื่อปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีขึ้นและทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

การใช้พลาสติกคลุมดิน สามารถปกป้องหน้าดินจากแรงกระแทกของน้ำ ลดความรุนแรงจากฝน ช่วยรักษาความชื้นของดิน ลดความเสียหายของราก ปกป้องการเกิดโรคพืชทางดินและลดการเกิดวัชพืชได้

การปลูกพืชผักให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพจำเป็นต้องมีความรู้ตามหลักวิชาการ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการการปลูกในทุกสภาพการณ์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก การปลูกพืชผักในปัจจุบันเกษตรกรจะปลูกพืชผักใดต้องคำนวณพื้นที่เป็นตารางเมตร (ไม่ใช่ไร่) เก็บข้อมูลพันธุ์ ฤดูกาลปลูก วิธีการปลูก การบริหารจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย โรคและแมลงศัตรูพืช จำนวนผลผลิตต่อพื้นที่ รวมถึงคุณภาพผลผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลความคุ้มค่าการใช้พื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ต้องรู้ว่าความเสี่ยงการปลูกผักมีอะไรบ้าง บางอย่างคาดการณ์ได้ บางอย่างคาดการณ์ไม่ได้ ความเสี่ยงอาจผันแปรไปตามฤดูกาล เมื่อรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมืออย่างเป็นระบบก็ช่วยลดความเสี่ยงลงได้ และทำให้ปลูกทุกครั้ง ได้ผลผลิตทุกครั้ง แม้ในสภาพอากาศที่ร้อนเพียงใดก็ตาม

About Author