แนะตัดวงจรติดเชื้อ HPV ด้วยการฉีดวัคซีน

          การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ถือเป็น “การลงทุนทางสุขภาพ” ที่สำคัญ เนื่องจากไม่ได้ป้องกันเพียงการเกิดโรค แต่ยังช่วยลดเหตุสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลที่บานปลายจากการเกิดโรคที่ลุกลามเพราะไม่ได้ป้องกัน

          หนึ่งในวัคซีนที่เปิดบริการโดยทั่วไป ซึ่งยังคงมีข้อสงสัยในเรื่องความจำเป็นและขอบเขตในการป้องกันโรค ได้แก่ HPV (Human papillomavirus) ไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อก่อโรคบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก ก่อนลุกลามจนถึงขั้นกลายเป็นเนื้อร้าย ทั้งในหญิงและชาย

          แพทย์หญิงธีรานันท์ นาคะบุตร รองหัวหน้าฝ่ายการแพทย์แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์บูรณาการ และหัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ไขข้อข้องใจว่า เหตุใดวัคซีนป้องกัน HPV ถึงจำเป็นสำหรับทุกคน ในเกือบทุกช่วงวัย ยกเว้นสตรีมีครรภ์ เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ในลักษณะของการเป็นพาหะโดยไม่แสดงอาการ แม้ไม่ได้มีการสัมผัสโรคโดยตรง และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีในระยะลุกลาม

          ในประเทศไทยจัดให้วัคซีนป้องกัน HPV อยู่ในกลุ่ม “วัคซีนแนะนำ” สำหรับเพศหญิง อายุ 9 – 26 ปี และ “วัคซีนทางเลือก” สำหรับเพศชายอายุ 9 – 26 ปี และยังสามารถพิจารณาฉีดวัคซีนในผู้เข้ารับบริการกลุ่มเสี่ยงที่อายุไม่เกิน 45 ปี

          วัคซีน HPV จัดอยู่ในกลุ่ม “วัคซีนเชื้อตาย” ผู้ที่มีอายุ 9 – 14 ปีจะได้รับการฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน และฉีด 3 เข็มในช่วงวัยที่มากกว่า โดยเข็ม 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 2 เดือน และกระตุ้นด้วยเข็มสุดท้ายอีกภายใน 6 เดือนนับจากเข็มแรก ป้องกันได้มากกว่า 10 ปี

          อย่างไรก็ดี “วัคซีนในกลุ่มป้องกันโรคพื้นฐาน” ยังคงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดตามช่วงวัยที่กำหนด ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงช่วงสูงวัย ซึ่งหากจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนมากกว่าชนิดเดียว สามารถฉีดได้มากกว่า 2 ชนิดพร้อมกัน แต่ต่างตำแหน่ง หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน โดยทั่วไปควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 7 วันสำหรับวัคซีนเชื้อตาย และ 28 วันสำหรับวัคซีนเชื้อเป็น

          ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV และวัคซีนในกลุ่มป้องกันโรคพื้นฐานทุกวันในเวลาราชการ ติดต่อขอคำปรึกษาก่อนเข้ารับบริการได้ที่โทร. 0-2849-6600

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author