สารไฮโดรคอลลอยด์จากกากยีสต์โรงงานเบียร์ เพิ่มคุณค่าเบต้ากลูแคนลดปัญหาขยะล้นโลก

“อาหารเป็นยา“ คือหนทางสู่การเยียวยาสุขภาวะที่ไม่ต้องรอนานนับทศวรรษเพื่อการค้นพบ “ยาใหม่” ซึ่งต้องอาศัยหลายขั้นตอนกว่าจะ “ตกผลึก” และ “รับรองผล” ผ่านการ “ทดสอบจริงในมนุษย์” โดยในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเฉพาะจากการเลือก “รับประทานอาหารให้ถูกโรค“ ด้วยเทคโนโลยีสามารถทำให้อยู่รูปของ “วัตถุเจือปนอาหาร” (Food Additive) และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากสามารถผลิตได้จากธรรมชาติภายใต้แนวคิดรักษ์โลก

ศาสตราจารย์ ดร.มานพ สุพรรณธริกา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คร่ำหวอดในการคิดค้น วิจัย และพัฒนาสาร “ไฮโดรคอลลอยด์“ (Hydrocolloid) ซึ่งจัดเป็น “วัตถุเจือปนอาหาร” (Food Additive)

โดยในทางอุตสาหกรรมอาหารโดยทั่วไปนิยมเติมสาร “ไฮโดรคอลลอยด์“ ลงไปในอาหาร เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ “ความข้นหนืด” ให้กับอาหาร ซึ่งในทางการแพทย์ดีต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกัน “การคืนตัว” เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษา และ “ลดการใช้ไขมัน” ที่ดีต่อสุขภาพ โดยอาจใช้เติมลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันสูง เช่น “มายองเนส” เพื่อลดการใช้ส่วนผสมที่เป็นไขมันได้ถึงร้อยละ 50

“ไฮโดรคอลลอยด์“ ที่ดี ในขณะที่ทำหน้าที่เพิ่มคุณสมบัติให้กับอาหารได้ทั้ง 3 ประการดังกล่าวแล้ว จะต้องไม่ทำให้อาหารมีรส กลิ่น และสีเปลี่ยนไป และเห็นผลได้ในปริมาณที่น้อยมาก กล่าวคือเพียงร้อยละ 1 – 2 ก็สามารถเพิ่มคุณสมบัติที่ต้องการให้กับอาหารได้ ซึ่งจะสามารถช่วยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร “ลดต้นทุน” ลงได้อย่างมาก

โดยที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.มานพ สุพรรณธริกา ฝาก “ผลงานสร้างชื่อ” จากการคิดค้นสาร “ไฮโดรคอลลอยด์“ ที่พัฒนาขึ้นจาก “กากยีสต์โรงงานเบียร์” เพิ่มคุณค่าด้วย ”เบต้ากลูแคน“ ซึ่งเป็น “สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ“ (Bioactive Compound) ให้ได้ ”อาหารที่สามารถเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย“ ต้านอนุมูลอิสระ ลดคอเลสเทอรอล และเพิ่มใยอาหาร

แม้สาร “ไฮโดรคอลลอยด์“ ที่พัฒนาจาก ”กากยีสต์โรงงานเบียร์“ เพิ่มคุณค่าด้วย ”เบต้ากลูแคน“ ดังกล่าว นอกจากจะ “ดีต่อสุขภาวะ” แล้ว ยัง “ดีต่อสิ่งแวดล้อม” ในการช่วยโลกเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมาย “Zero Waste” ลดปัญหา ”ขยะล้นโลก“ ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ผลงานวิจัยดังกล่าวยังรอคอยการต่อยอดในเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาถึง ”จุดคุ้มทุน“ ในการผลิต ตลอดจนแนวโน้มทางตลาด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author