ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ไบโอเทค สวทช. กระทรวง อว. เผยถึง “โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง” ว่า เป็นโครงการที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น กรมการข้าว, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, Department of Agricultural Research (DAR) จากเมียนมา และ National Agriculture and Forestry Research Institute (NAFRI) จาก สปป. ลาว
โดยโครงการนี้มีการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติและมีสถานที่วิจัย (Challenge Program) เพื่อพัฒนาบุคลากรและการทำงานวิจัยร่วมกัน รวมถึงมีการให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อให้นักศึกษาและนักวิจัยนำเอาความรู้และเทคโนโลยีไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศตนเอง
จากการทำงานร่วมกัน NAFRI สามารถปรับปรุงพัฒนาจนได้ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ “หอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8)” ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างข้าวเหนียวท่าดอกคำ 8 ที่ให้ผลผลิตสูงและนิยมปลูกใน สปป. ลาว กับข้าวเหนียวหอม ที่พัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว โดยนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (MAS) มาใช้คัดเลือกลักษณะความหอมและยีนต้านทานโรคใบไหม้
ทำให้ข้าวเหนียวสายพันธุ์หอมท่าดอกคำ 8 เป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เติบโตดี ให้ผลผลิตสูง อายุ 130-135 วัน ลักษณะต้นเตี้ย ลำต้นแข็งไม่ล้มง่าย ไม่ไวต่อแสง ทำให้ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง เหมาะสมแก่การปลูกทั้งในภาคกลาง ใต้ และบางเขตในภาคเหนือของ สปป. ลาว เช่น แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา ไซยะบุรี อุดมไซ และหลวงพระบาง
ปัจจุบันทางกระทรวงเกษตรของ สปป. ลาว โดยศูนย์วิจัยข้าว กำลังผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งมอบให้กับเกษตรกรใน 5 แขวงเป้าหมาย ไซยะบุรี เวียงจันทน์ บอลิคำไซ และคำม่วน เพื่อปลูกและผลิตขายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
เรียบเรียงจาก : https://www.thairath.co.th/news/local/1963815