การ์ทเนอร์คาดการณ์ภายในสิ้นปี 2566 พนักงานที่มีทักษะความรู้ทั่วโลก 39% จะทำงานแบบ Hybrid

          กรุงเทพฯ 8 มีนาคม 2566 – การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี 2566 จะมีพนักงานที่มีทักษะความรู้ทั่วโลกประมาณ 39% ทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) เพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2565

          รันจิต อัตวาล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การทำงานไฮบริดไม่ใช่แค่การเติมไฟทำงานให้แก่พนักงาน แต่ยังเป็นความคาดหวังของพนักงานอีกด้วย ในปี 2565 มีพนักงานจำนวนมากทยอยกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ โดยที่รูปแบบการทำงานไฮบริดจะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปีนี้และอนาคต บริษัทนายจ้างควรปรับตัวโดยการนำนโยบายการทำงานที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centric Work Design) มาปรับใช้ในองค์กร รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วมในงาน และมีรูปแบบการจัดการพนักงานที่ทำงานไฮบริดอย่างเข้าอกเข้าใจ”

          ตัวอย่างเช่น บุคลากรไอทีมีแนวโน้มลาออกมากกว่าบุคลากรในสายงานอื่น ๆ เนื่องจากพวกเขาต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น และมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) และมองหาโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น โดยผู้บริหารไอที (หรือ CIOs) สามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะความสามารถระดับหัวกะทิได้ โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เป็นการมอบคุณค่าแก่พนักงาน (Employee Value Proposition) ที่เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น

          การ์ทเนอร์ให้คำจำกัดความ พนักงานกลุ่ม Hybrid Workers คือผู้ที่เข้าทำงานในสำนักงานอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ส่วนพนักงานกลุ่ม Fully Remote Workers เป็นกลุ่มที่ทำงานที่บ้านตลอดเวลา และพนักงานกลุ่ม On-Site Workers คือพนักงานที่เข้าทำงานในสำนักงานเต็มเวลา

          คาดว่าจำนวนพนักงานที่ทำงานผ่านระยะไกล (Remote Workers) จะลดลงทุกปี การ์ทเนอร์ประมาณการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 จำนวน Remote Workers จะเหลือเพียง 9% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดทั่วโลก (ตามภาพที่ 1)

 


ภาพที่
1: สัดส่วนพนักงานที่มีทักษะความรู้ทั่วโลกที่ทำงานแบบ Fully Remote และ Hybrid ระหว่างปี 2564 – 2566
ที่มา การ์ทเนอร์ (มีนาคม 2566) 

          ตั้งแต่ปี 2562 ทุกประเทศมีสัดส่วนการทำงานแบบ Hybrid และ Fully Remote เพิ่มขึ้น โดยมีความแตกต่างกันออกไปอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละประเทศ

เมื่อการออกแบบการทำงานที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางมาพบกับพื้นที่ทำงานเสมือนจริง (Virtual Workspaces

          Human-Centric Design หรือการออกแบบการทำงานที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางต้องอาศัยหลักการ บรรทัดฐานและไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งพื้นที่ทำงานเสมือนจริง (Virtual Workspaces) ที่ประสบความสำเร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสรรหาและว่าจ้างไปจนถึงรวบรวมทีมงานไว้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงที่ตั้งภูมิศาสตร์ พื้นที่ทำงานเสมือนจริงยังเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดปัญหาในเรื่องการจัดประชุมแบบพบหน้า (รวมถึงการเดินทาง) ด้วยโซลูชั่นการประชุมเสมือนจริงที่มีอยู่ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 พนักงาน 10% จะใช้พื้นที่เสมือนจริงสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การขาย การเตรียมพร้อมสำหรับพนักงานใหม่และการทำงานจากระยะไกล

          คริสโตเฟอร์ ทรูแมน นักวิเคราะห์อาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “สำหรับองค์กรที่ทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานจากระยะไกลนั้นพื้นที่สำนักงานจริงอาจถูกแทนที่ด้วยพื้นที่ทำงานเสมือนจริงอย่างเต็มศักยภาพ จนกลายเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมองค์กร และเป็นศูนย์กลางการทำงานที่สร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้พนักงาน อย่างไรก็ตามพนักงานไม่ควรคาดหวังว่าจะมีส่วนร่วมในพื้นที่ทำงานเสมือนจริงตลอดทั้งวัน แต่ควรใช้พื้นที่นี้สำหรับการประชุมและการสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับตนเอง อาทิ การระดมไอเดียต่าง ๆ (Brainstorming) การทดสอบผลิตภัณฑ์ (Product Reviews)  หรือ การพบปะทางสังคม (Social Gatherings)”

          ลูกค้าการ์ทเนอร์ สามารถคลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “Forecast Analysis: Knowledge Employees, Hybrid, Fully Remote and On-Site Work Styles, Worldwide.”

About Author