ม.มหิดล เตรียมประสาน 2 พลังรพ.สัตว์มุ่งสู่มาตรฐาน ISO 9001:2015

          นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ที่คนไทยได้มี 2 โรงพยาบาลสัตว์เพื่อการเรียนการสอนที่ครบวงจร ทั้งสัตว์เล็ก ที่รับผิดชอบโดย “โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร” ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และสัตว์ใหญ่ รวมถึงสัตว์ป่า ที่รับผิดชอบโดย “โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

          ซึ่งได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนผู้มาใช้บริการอยู่ตลอดเวลา จนปัจจุบันได้ยกระดับการให้บริการ เพื่อเตรียมเข้ารับการประเมินมาตรฐาน ISO 9001:2015 ในอีก 2 ปีข้างหน้า

          รองศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงสุกัญญา มณีอินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงหนึ่งในความพยายามเพื่อการพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO 9001:2015 คือการวางระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ “iMed” ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเก็บข้อมูลสัตว์ป่วย การติดตามการให้การรักษา ตลอดจนการประเมินค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ประกอบการวางแผนรักษาสัตว์ ตั้งแต่เมื่อเกือบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

          โดยเอื้อต่อนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเรียนการสอน และการวิจัยที่สามารถติดตามผลทางคลินิกได้โดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ห้องปฏิบัติการ สู่การใช้งานจริงทางคลินิก ที่สามารถย่นย่อระยะเวลาที่ต้องเสียไปในการดำเนินการ จากกระบวนการเดิมที่ยังไม่ได้จัดวางเข้าระบบ 1 สัปดาห์ เหลือเพียงไม่ถึง 1 วัน

          เช่นเดียวกับที่ โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีที่ตั้ง ณ วิทยาเขตกาญจนบุรี ที่ให้บริการรักษาสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ รวมถึงสัตว์ป่า ซึ่งผู้มาใช้บริการ ได้แก่ เจ้าของสัตว์เลี้ยงเอง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลสัตว์ป่า ต่างได้รับความสะดวกรวดเร็วจากระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ “iMed”

          นอกจากนี้ ระบบใหม่ยังสามารถเชื่อมต่อหน่วยงานบริการวิชาการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ตรวจวินิจฉัยทางการสัตวแพทย์ (ศวส.) หรือศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ (MoZWE) ที่เชื่อมั่นได้จากการสามารถคว้ามาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025:2017 ไว้เพื่อรองรับการให้บริการที่เปี่ยมประสิทธิภาพอยู่ก่อนแล้ว

          ก้าวต่อไป เตรียมพัฒนาสู่ “Smart OPD” ที่จะทำให้ไม่พลาดการเก็บบันทึกทุกรายละเอียดของการรักษาสัตว์ไว้ในฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อการสืบค้น และส่งต่อข้อมูลได้โดยสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจใช้ขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายต่างประเทศได้ต่อไปอีกในอนาคต

          ไม่เพียง “มนุษย์” ที่ต้องอาศัยความฉับไวในการให้บริการทางการแพทย์ในยามฉุกเฉิน “สัตว์” ก็มี “นาทีชีวิต” ที่ขึ้นอยู่กับความดูแลเอาใจใส่ พร้อมการตัดสินใจแก้ไขปัญหา และการบริหารจัดการที่ฉับไวโดยมนุษย์เช่นเดียวกัน

          มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ พร้อมพัฒนาบริการ “โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร” ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และ “โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ เพื่อสุขภาวะที่ดีของ “สัตว์” เพื่อนร่วมโลกที่จะช่วยต่อชีวิต “มนุษย์” ให้ดำเนินต่อไปอย่างมีความหวัง เพื่อวันพรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป ที่มนุษย์และสัตว์จะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่นและเนิ่นนาน

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author