นางสาวพิมพ์พร ทวยทา นักศึกษาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่ได้เข้ามาทำงานที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท ตนมีความสนใจในเรื่องโภชนาการของเด็ก โดยปัญหาทุพโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมไปถึงเด็กในสถานสงเคราะห์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงด้วย โดยได้จัดกิจกรรมการส่งเสริมโภชนาการให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการปลูกผักสวนครัวในสถานสงเคราะห์ การให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานผัก และการให้เด็กลงมือปฏิบัติในการเตรียมเมล็ดพันธุ์ ดิน ปุ๋ย ขี้วัว สำหรับการปลูกผัก การดูแลรดน้ำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่ได้จากการปลูก โดยทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ทำอาหารและชิมอาหารไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาการเรียนรู้จากการที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเองไปพร้อม ๆ กัน ทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ที่สำคัญทำให้เด็กได้รับอาหารมีประโยชน์สามารถช่วยส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้กับเด็ก
เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท จะมีอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปี ในการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ จะให้การดูแลตามความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัย ในตอนแรกรับก่อนจะให้เด็กเข้าพักตามอาคารพัก จะมีการคัดกรองเด็กเพื่อแบ่งกลุ่มเด็กปกติ และเด็กที่มีความเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด โดยเด็กที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพหรือมีความเจ็บป่วยซ้ำซ้อนจะให้อยู่ใกล้กับพยาบาล ส่วนเด็กที่ปกติจะจัดให้อยู่อาคารพักตามช่วงวัยเพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม โดยมีพี่เลี้ยงดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในการดูแลเด็กควรคำนึงถึงพัฒนาการทางจิตสังคมร่วมด้วย
เด็กแรกเกิด – 18 เดือน จำเป็นต้องให้การดูแลตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก เช่น การได้รับนมและอาหารตามวัย การดูแลความสะอาดร่างกายและภายหลังขับถ่าย ตลอดจนการให้ความรักและความปลอดภัยเพื่อส่งเสริมความไว้วางใจต่อผู้ดูแล และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก
เด็กอายุ 18 เดือน – 3 ปี พี่เลี้ยง/ผู้ดูแลควรฝึกการขับถ่ายในช่วงวัยนี้ และมีการเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ให้กำลังใจและชื่นชมเมื่อทำได้สำเร็จหรือมีความพยายามเพื่อส่งเสริมพัฒนาการขั้นการเป็นตัวของตัวเอง
เด็กอายุ 3 – 5 ปี พี่เลี้ยงควรส่งเสริมให้เด็กเกิดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่รอบ ๆ ตัว ได้ค้นคว้าสิ่งที่อยากรู้ ไม่ลงโทษ ห้าม หรือตำหนิ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจ เพื่อพัฒนาความคิดริเริ่ม
เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป พี่เลี้ยงควรส่งเสริมสิ่งที่เด็กให้ความสนใจและลงมือทำ ทำให้เด็กเกิดความพยายาม มีความมั่นใจและความภูมิใจในตนเอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการขั้นความขยันหมั่นเพียร
สำหรับปัจจัยที่กำหนดภาวะสุขภาพของเด็กในสถานสงเคราะห์ แบ่งเป็นปัจจัยก่อนที่จะเข้าสถานสงเคราะห์ เช่น ภาวะสุขภาพของมารดาก่อน-ระหว่างตั้งครรภ์ การให้นมบุตร ประวัติการคลอด ภาวะสุขภาพทารกหลังคลอด ประวัติการสัมผัสสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ประวัติการเจ็บป่วย ความพิการ รวมถึงปัจจัยด้านสังคม เช่น รายได้ ระดับการศึกษาของบิดามารดา ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และปัจจัยภายในสถานสงเคราะห์ ได้แก่ ปัจจัยด้านโครงสร้าง เช่น ลักษณะองค์กร นโยบาย คู่มือการดำเนินงาน อุปกรณ์ สถานที่ งบประมาณ บุคลากร เป็นต้น และปัจจัยด้านกระบวนการ เช่น การดำเนินงานในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ เด็กบางคนในสถานสงเคราะห์ประสบปัญหาสุขภาพที่เกิดจากปัจจัยด้านร่างกายและโรคต่าง ๆ มีสภาพแวดล้อมที่จำกัด ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม ดังนั้น เด็กในสถานสงเคราะห์ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพได้มากกว่า
แนวทางในการดูแลสุขภาพเด็กในสถานสงเคราะห์ จะเริ่มตั้งแต่กระบวนการแรกรับ โดยเด็กรายใหม่ทุกคนจำเป็นต้องมีการคัดกรองสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเพื่อให้การดูแลได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อในสถานสงเคราะห์ สำหรับเด็กรายเดิมจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองโรคและสุขภาพเป็นประจำทุกปี การดูแลให้ได้รับวัคซีนตามวัย และสำหรับเด็กป่วย ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด มีการแยกและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การสังเกตอาการ เมื่อมีการเจ็บป่วยที่รุนแรง ประเมินและการส่งต่อไปที่โรงพยาบาล มีการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน การส่งเสริมให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์และตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ มีการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตและโภชนาการ มีการจัดอาหารตามวัยเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ มีการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการ มีการจัดพื้นที่หรือสภาพแวดล้อม รวมถึงอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการเล่นของเด็ก โดยแนวทางที่กล่าวมาทั้งหมดจะไม่เกิดประโยชน์เลยหากขาดผู้ขับเคลื่อน ดังนั้น การจะพัฒนาเด็กให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา จำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ดูแลเด็กให้มีองค์ความรู้ ทัศนคติ และทักษะการปฏิบัติงาน เพื่อนำประโยชน์ไปใช้ในการดูแลเด็กต่อไป
การจะทำให้ได้เด็กในสถานสงเคราะห์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางพัฒนาให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ พี่เลี้ยงเด็ก พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา แม่ครัว พนักงานซักฟอก คนสวน โยธา หรือ back office รวมไปถึงเครือข่ายภายในและภายนอกหน่วยงานในการสนับสนุนการดำเนินงาน ทุกตำแหน่งในสถานสงเคราะห์รวมถึงเครือข่ายต่าง ๆ หรืออาสาสมัคร มีส่วนสำคัญในการพัฒนา การดูแลและช่วยเหลือเด็กทุก ๆ คนในสถานสงเคราะห์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และการนำองค์ความรู้จากทุกภาคส่วนมาทำให้เกิดการพัฒนาองค์กร อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขโดยรวมอย่างทั่วถึงและยั่งยืนกับทุกกลุ่มประชากรต่อไป