วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้เป็น “วันคนพิการสากล” เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของคนพิการ
สังคมจะดีแค่ไหนถ้าคนพิการสามารถดำรงชีวิตปกติโดยอิสระร่วมกับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งการส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอย่างอิสระโดยอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นให้น้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องดำรงชีวิตกันด้วยความยากลำบากนี้ และถือเป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของความมนุษย์
เกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่โลกเกิดแนวคิดเรื่อง Independent Living (IL) หรือ “การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ” ริเริ่มโดย “เอ็ด โรเบิร์ต” ชายผู้พิการด้วยโรคโปลิโอชาวอเมริกัน ที่ต้องใช้รถวีลแชร์ และเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งต่อมาได้มีการขยายผลแนวคิดดังกล่าวไปยังทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดย วิทยาลัยราชสุดา ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทุ่มเทเพื่อการเป็นที่พึ่งทางวิชาการ มอบองค์ความรู้ การบริการ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อคนพิการของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา
อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 10 ซึ่งว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Reduced Inequalities) ที่ผ่านมา วิทยาลัยฯ ได้มีการจัดฝึกอบรมวิถีชีวิตอิสระ ตามแนวคิด Independent Living (IL) ที่ใช้กันในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับให้เข้ากับบริบทของคนไทย ซึ่งนอกจากการจัดฝึกอบรมให้กับคนพิการได้ถึงพร้อมด้วยทักษะที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้โดยอิสระแล้ว ยังได้จัดฝึกอบรมให้คนทั่วไปเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เข้าใจ และให้การช่วยเหลือคนพิการได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้สังคมแห่งความแตกต่างหลากหลายนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และด้วยความสันติสุข
นอกจากนี้ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำเป็นคู่มือ และคลิปวีดีโอเพื่อมอบเป็นองค์ความรู้สู่ประชาชนต่อไปในวงกว้าง และยังได้ร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผลักดันสู่ระดับนโยบายให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริการคนพิการ” ขึ้นภายในองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ไปจนถึงชุมชนทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและดูแลคนพิการของแต่ละองค์กร และท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย
อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ ได้กล่าวแนะนำถึงหลักดำรงชีวิตอิสระทิ้งท้ายว่า จะต้องตระหนักรู้ถึงระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ และที่สำคัญจะต้อง “สื่อสารได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนพิการจะต้องออกไปพบเจอผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในโลกภายนอกเพียงลำพัง จะต้องบอกได้ว่าตัวเองกำลังจะทำอะไร และต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร รวมทั้งจะต้องฝึกทักษะต่างๆ ให้พร้อมก่อน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ควรปรับทัศนคติของคนทั่วไปให้เปิดใจรับคนพิการ ตลอดจนรัฐควรให้การส่งเสริมโดยจัดบริการที่เอื้อต่อคนพิการไว้รองรับให้พร้อมด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210