หนึ่งในโรคที่มักมาพร้อมหน้าหนาว คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ผ่านมารัฐจึงได้รณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในทุกปี เนื่องจากเป็นโรคพึงเฝ้าระวังที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญสู่การเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีภาวะรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
อาจารย์ นายแพทย์นฤมิต สายะบวร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ประชาชนทุกคนควรได้รับการฉีดในทุกปี เนื่องจากจะสามารถลดอัตราการเกิดโรคที่รุนแรงได้ประมาณร้อยละ 60 – 70
อาจารย์ นายแพทย์นฤมิต สายะบวร
อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งวัคซีนที่จัดให้บริการที่ผ่านมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยภาครัฐ สามารถป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ H1N1 H3N2 และ B/Victoria lineage ในขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึง B/Yamagata lineage
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรขาดการเข้ารับวัคซีน ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อ หากอยู่ในช่วงที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการเบาหวานกำเริบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเสี่ยงได้มากขึ้นต่อการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันลดลง โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
เมื่อมีอาการไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจเหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อยลง ควรเข้ารับการประเมินอาการโดยแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาต้านเชื้อไวรัสภายใน 48 – 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ แม้โรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการผิดปกติคล้ายกับโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ใช้ยาต้านเชื้อที่ต่างชนิดกัน ส่วนรายที่อาการไม่รุนแรง อาจใช้เพียงยารักษาตามอาการได้
โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หยุดเรียน หรือหยุดงาน 3 – 7 วันแม้ยังไม่มีอาการรุนแรง ในกรณีที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
นอกจากนี้มาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ยังใช้ได้เสมอสำหรับการป้องกันการติดเชื้อของโรคติดต่อได้แทบทุกโรค เพียงหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพทางกาย ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างสม่ำเสมอทุกปี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลสุขภาพใจให้ห่างไกลความเครียด จะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีสุขภาพที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยไม่ป่วยเพิ่ม
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210