นวัตกรรมป้องกันและแจ้งเตือนช้างป่าเข้าใช้พื้นที่เกษตร

          ด้วยสำนึกในสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้คนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก แต่ธรรมชาติของป่าต่างจากธรรมชาติของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบและบริหารจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

          ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า “ช้างป่า” จัดเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการขยายพื้นที่ของมนุษย์ ด้วยความเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และต้องการผืนป่าขนาดใหญ่เพื่อการดำรงชีวิต ทำให้มักพบปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกินของชาวบ้าน จนทำให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อลดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างมนุษย์และช้างป่าอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

          รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงธรรมชาติของช้างป่าว่า แต่ละเชือกกินอาหารในปริมาณที่มากถึง 250 – 300 กิโลกรัมต่อวัน จึงส่งผลกระทบสูงเมื่อเข้าบุกรุกพื้นที่เกษตรของชุมชน


รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์
อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          จากการลงพื้นที่วิจัยในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทย นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตร จำนวน 2 ชิ้น

          นวัตกรรมชิ้นแรก ได้แก่ การจัดทำแบบจำลองการเคลื่อนที่ของช้าง เพื่อหาแนวทางที่ปลอดภัยระหว่างช้างป่าและชุมชน เพื่อประโยชน์สำหรับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดูแลช้างป่า และพื้นที่อนุรักษ์

          ส่วนนวัตกรรมอีกชิ้นเป็นการวางระบบเซนเซอร์ซึ่งใช้แสงเลเซอร์เพื่อการแจ้งเตือนในระยะปลอดภัย 50 – 100 เมตรผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์ก่อนการนำไปใช้จริง

          โดยงานวิจัยดังกล่าวเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Diversity” และจะได้ต่อยอดศึกษาเพิ่มเติมเพื่อการวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ทำให้ช้างป่าต้องออกมาสู่ชุมชน เพื่อการสร้างมาตรการป้องกันดูแลที่ครอบคลุม และเพิ่มความมั่นใจให้กับชุมชน

          สำหรับประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบการเที่ยวป่า รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ แนะนำว่าไม่ควรอยู่นอกเขตพื้นที่ปลอดภัย โดยปกติช้างป่าจะไม่ทำร้ายมนุษย์ ถ้าไม่มีอาการตกใจ หูกาง-หางชี้ และหากต้องเผชิญกับช้างป่า ไม่ควรเข้าใกล้ หรือให้อาหาร เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชินกับมนุษย์

          ขอเพียงมนุษย์และช้างป่าอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ซึ่งข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ช้างป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศ การอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของช้างป่า จึงเป็นการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ในระบบนิเวศไปด้วยในขณะเดียวกัน

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ภาพถ่ายโดย
ไมตรี บัวศรีจันทร์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author