การผ่าตัดทางทันตกรรมเป็นช่วงเวลาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่อยู่ในห้องผ่าตัด เพื่อให้ผ่านพ้นนาทีวิกฤติไปด้วยกัน แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนพร้อม แต่อุปกรณ์ไม่พร้อม
นางสาวพรนรินทร์ อาดนนท์ลา พยาบาลวิชาชีพประจำหน่วยวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ผู้อุทิศสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ
โดยพบว่าการผ่าตัดทางทันตกรรมที่ได้ผลดี ต้องประกอบไปด้วยการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ความชำนาญของทันตแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์ แต่ยังประกอบไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือในการผ่าตัด แม้เพียงอุปกรณ์ที่คิดว่าไม่สำคัญ เช่น ถุงที่ใช้สำหรับบรรจุสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหารผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดทางทันตกรรมก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยและป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมายังไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้รองรับสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหารของผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดทางทันตกรรมที่มีความเหมาะสม และปลอดภัย รวมไปถึงการผลิตขึ้นเองโดยคนไทย เพื่อใช้สำหรับระบายสารคัดหลั่ง และก๊าซในกระเพาะอาหาร
รวมไปถึงเพื่อสังเกตสีและปริมาณของสารคัดหลั่งที่ออกมา เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดทางทันตกรรมในช่วงแรกเริ่มของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสนอง “ยุทธศาสตร์สีเขียว” ของชาติ และเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ จึงได้ทดลองประยุกต์จากวัสดุที่หาได้โดยทั่วไป
โดยเริ่มต้นจากการทดลองใช้ถุงพลาสติกที่มีในหน่วยงาน พบปัญหาการรั่วซึม การเลื่อนหลุด จากนั้นมีการประดิษฐ์ถุงบรรจุสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหารจากวัสดุ reuse ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่ผู้วิจัยและทีมยังไม่หยุดเท่านั้น ยังมีการสำรวจการใช้งานถุงบรรจุสารคัดหลั่งที่มีใช้ทั่วไปในประเทศ โดยพบว่าเป็นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่รอบตัว เช่น ถุงร้อน ถุงมือ ถุงใส่อาหารเหลวที่ใช้แล้ว ซึ่งพบว่ายังไม่มีความเหมาะสมในการใช้งาน
จึงนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา จนนำมาสู่นวัตกรรมถุงบรรจุสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหารที่ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับการบริการ การดูแลผู้ป่วย
จนได้นวัตกรรมซึ่งได้ทดลองใช้จริงจนเห็นผล และได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ผ่าน สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL – Technology Readiness Level) ในระดับ 5 ซึ่งสามารถใช้เป็นต้นแบบห้องปฏิบัติการ และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถบรรจุอย่างเหมาะสมมากขึ้น
ด้วยหัวใจที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค จะนำพาสู่หนทางแห่งแสงสว่าง ด้วยจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งมั่นพร้อมเป็นที่พึ่งทางสุขภาวะเพื่อประชาชน จากความเพียร และปัญญา จะนำพาสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคที่กำลังเผชิญต้องดำเนินชีวิตต่อไปอย่างสิ้นหวัง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210