รู้หรือไม่! ‘อินซูลิน’ อยู่คู่เบาหวานมานานนับร้อยปีแล้ว

          วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี คือ ‘วันเบาหวานโลก  (World Diabetes Day)’ ตั้งขึ้นโดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นมาก วันนี้เราชวนคุณมาหวนทำความรู้จักกับเรื่องราวความเป็นมาของ ‘อินซูลิน’ เทคโนโลยีการแพทย์ที่ผ่านการคิดค้นและใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานมานานนับ 100 ปี

          แรกเริ่มเดิมทีเชื่อกันว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานน่าจะมาจากความผิดปกติที่ตับหรือท้อง แต่ในปี พ.ศ. 2432 นักวิจัยชาวเยอรมัน อ็อสการ์ มินค็อฟสกี (Oskar Minkowski) และโจเซฟ ฟ็อน เมริง (Josef von Mehring) พบว่าน้องหมาหลายตัวที่ถูกเอาตับอ่อนออกไปจะมีอาการของโรคเบาหวาน นั่นก็แสดงว่าต้องมีสารอะไรบางอย่างในตับอ่อนที่ช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานได้ ปริศนานี้ยังคาใจนักวิจัยทั่วโลกอยู่นาน นักวิจัยหลายคนหาสารปริศนานี้จนท้อ ในขณะที่บางคนก็ยังมุ่งมั่นค้นหาต่อไป

          ในปี พ.ศ. 2464 เฟรเดอริก แบนทิง (Frederick Banting) ผู้มีงานหลักเป็นคุณหมอ มีงานรองเป็นอาจารย์คณะแพทย์ฯ ที่ University of Western Ontario ประเทศแคนาดา เกิดปิ๊งไอเดียในการค้นหาสารปริศนานี้ขึ้นมาได้ระหว่างที่เขาเตรียมการสอนเรื่องตับอ่อน

          เขาคิดว่าที่ยังหาสารปริศนาไม่เจอเสียทีนั้นน่าจะเป็นเพราะน้ำย่อยจากตับอ่อน ถ้าหยุดการผลิตน้ำย่อยได้ก็จะแยกเอาสารปริศนาออกมาได้ ความคิดนี้น่าจะทำได้ด้วยการมัดท่อตับอ่อนของน้องหมา ขังน้ำย่อยไว้ภายในตับอ่อน ให้มันไปทำลายเซลล์ที่ผลิตน้ำย่อย แต่จะไม่สามารถทำลายกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า islet of langerhans ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ผลิตสารปริศนาดังกล่าว

          แต่ด้วยความที่ตัวเองไม่ได้มาสายวิจัย จึงต้องมองหาตัวช่วย มีคนแนะให้คุณหมอแบนทิงลองไปติดต่อคณะแพทย์ฯ แห่ง University of Toronto (ซึ่งตัวเองเป็นศิษย์เก่า) เพราะที่นั่นมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีน้องหมา และมีผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง คือ ศาสตราจารย์จอห์น แม็กคลาวด์ (John Macleod) ซึ่งศาสตราจารย์แม็กคลาวด์ก็ตกลงซื้อไอเดีย พร้อมมอบหมายให้ชาลส์ เบสต์ (Charles Best) นักศึกษาในแล็บไปช่วยคุณหมอแบนทิงทำวิจัย

          คุณหมอแบนทิงและเบสต์เริ่มทำวิจัยภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์แม็กคลาวด์อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464

          ทั้งสองทำแล็บอย่างมุ่งมั่น ผ่านไปวันแล้ววันเล่า จนสกัดสารปริศนาจากตับอ่อนของน้องหมาออกมาได้ พร้อมให้ชื่อว่า isletin (อ่านว่า ไอ-เล-ทิน) แล้วจากนั้นก็นำไปทดลองฉีดให้หมาที่ถูกตัดตับอ่อนออกไป รวมทั้งหมาที่ป่วยเป็นเบาหวาน เพื่อดูว่า isletin จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริงหรือไม่ และแล้วในวันที่ 30 กรกฎาคม ก็มีข่าวดี เมื่อผลเลือดของน้องหมาหมายเลข 410 (หมาที่ใช้ในการทดลองจะไม่มีชื่อ มีแต่เลขประจำตัว) ออกมาว่ามีระดับน้ำตาลลดลง

          ต่อมาคุณหมอแบนทิงกับเบสต์พบว่าการสกัด isletin จะไม่ยุ่งยาก ไม่สร้างความลำบากให้น้องหมาอีกต่อไป ด้วยการเปลี่ยนมาสกัดจากตับอ่อนหมูหรือวัวสดๆ แช่เย็น ซึ่งหาได้จากโรงฆ่าสัตว์ทั่วไป ศาสตราจารย์แม็กคลาวด์จึงได้พาเจมส์ เบอร์แทรม คอลลิป (James Bertram Collip) อาจารย์จาก University of Alberta ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมีเข้ามาช่วยในการสกัด isletin จากตับอ่อนหมูหรือวัว เพื่อทำให้มีความบริสุทธิ์สูงขึ้น มีประสิทธิภาพต่อการใช้งานมากขึ้น พร้อมจะนำไปใช้กับคน

          และแล้วในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2465 การฉีด isletin ครั้งแรกของโลกก็เกิดขึ้นที่โรงพยาบาล Toronto General Hospital โดยฉีดให้ลีโอนาร์ด ทอมป์สัน (Leonard Thompson) เด็กชายวัย 13 ปี ผู้ป่วยเบาหวานอาการหนัก แต่หลังฉีดไปแล้วอาการของทอมป์สันยังไม่มีทีท่าว่าดีขึ้น ทีมวิจัยเริ่มใจคอไม่ดี จนกระทั่งผ่านไป 12 วัน ระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะของทอมป์สันกลับมาอยู่ในระดับปกติ อาการของโรคก็บรรเทาลง จากที่ใกล้ตาย เด็กชายได้กลับมาใช้ชีวิตของเขาอีกครั้ง ส่วนทีมวิจัยก็กลับมาเฮหลังจากที่กลัดกลุ้มอยู่หลายวัน

          นับจากวันนั้นก็มีการนำ isletin ไปใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานอีกหลายเคสในแคนาดา ซึ่งผลออกมาดีและงานนี้ก็ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก ไม่กี่เดือนต่อมา isletin เปลี่ยนชื่อเป็น insulin” (ตั้งโดยศาสตราจารย์แม็กคลาวด์ มาจากคำว่า “insula” ในภาษาละติน แปลว่า เกาะ) ในปี พ.ศ. 2466 คุณหมอแบนทิงกับศาสตราจารย์แม็กคลาวด์ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีวิทยาหรือการแพทย์ ซึ่งคุณหมอแบนทิงแบ่งเงินรางวัลให้เบสต์ ส่วนศาสตราจารย์แม็กคลาวด์แบ่งให้คอลลิป

          เบื้องหลังการค้นพบอินซูลินนี้ก็มีประเด็นดรามาอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากทีมวิจัยเองที่คุณหมอ Banting ไม่ค่อยปลื้มศาสตราจารย์แม็กคลาวด์เท่าไรนัก หรือจากนอกทีมวิจัยที่มีนักวิจัยหลายคนเคลมว่าค้นพบอินซูลินด้วยเหมือนกัน แต่ประเด็นเหล่านั้นเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี เกียรติยศ ชื่อเสียงในวงการวิจัย สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้วมันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ ไม่เจ็บไม่ป่วยและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานขึ้น


ที่มาข้อมูล

https://www.thecanadianencyclopedia.ca/en/article/toronto-feature-discovery-of-insulin

https://www.thecanadianencyclopedia.ca/en/article/the-discovery-of-insulin#

About Author