ม.มหิดล พร้อมก้าวสู่บันไดแห่งการสร้างสรรค์ เร่งสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์และนำไปใช้ได้จริง

กว่านวัตกรรมหนึ่งชิ้นจะผลิตและถูกผลักดันให้สามารถใช้ได้จริงและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเตรียมความพร้อมสู่การบ่มเพาะ Pre-incubator ไปสู่การบ่มเพาะ Incabator รวมไปถึงกระบวนการที่จะเป็นการเร่งขับเคลื่อนการผลักดันและสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด หรือที่เรียกกันว่า
Acceleration Program

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการบ่มเพาะ สนับสนุนการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้วยกระบวนการเร่งขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด หรือที่เรียกว่า Accelerator ให้กับนักวิจัย ภายใต้ชื่อ ‘iNT Accelerate’

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ได้มีประสบการณ์สำคัญในการส่งเสริม Accelerator ภายใต้โครงการ SPACE-F ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพสู่การสร้างสรรค์อาหารโลก

และสำหรับปีงบประมาณ 2567 และในอนาคตต่อไป สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นแกนหลักในการทำหน้าที่สนับสนุนให้นักวิจัยสามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech Technology) ผ่านกระบวนเร่งสปีด Acceleration Program โดยทีม ‘iNT Accelerate’

เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ลูกค้าและตลาด ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เกิดการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และพัฒนาเศรษฐกิจชาติอย่างเป็นรูปธรรม

โดยจะมี 2 ฟันเฟืองหลักที่จะมาช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ “ทีม Scouting” ที่จะคอยช่วยเฟ้นหานวัตกรรมและ Entrepreneur เพื่อทำงานงานร่วมกันในรูปแบบ New Venture

ก่อนส่งต่อให้ “ทีม Venture Building” ที่จะเตรียมพร้อมและผลักดันนวัตกรรมให้เป็นรูปร่าง สร้างโอกาสในการเข้าถึงการ “จับคู่ทางเศรษฐกิจ” พร้อมผลิตนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และใช้ได้จริง ภายใต้การวางแผนทางการตลาดที่ชัดเจน และเหมาะสม

โดย “iNT Accelerate” จะโฟกัสในเรื่อง Health and Wellness ตามความถนัดของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลให้ประเทศไทยเป็น Wellness Destination ที่พร้อมเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนที่มีปลายทางเพื่อการให้บริการสุขภาวะที่ดีจากทั้งในและต่างประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ มองว่าในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหากได้ผ่านกระบวนการที่ชัดเจนและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) สู่ภาคอุตสาหกรรม จะยิ่งทำให้เส้นทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปถึงฝั่งฝันได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่เพียงขึ้นอยู่กับความพร้อมของข้อมูล และระบบนิเวศเป็นฐานสำคัญเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนด้วยว่ามีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ และพร้อมลงทุนต่อไปหรือไม่

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ เดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อการบรรลุเป้าหมายของการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์นวัตกรรมจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยหวังให้กระบวนการ Acceleration Program เป็นกำลังสำคัญของบันไดแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจชาติได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author