ทรัพย์สินทางปัญญากับความก้าวหน้าทางวิทยาการ

โดย กอวิศาล์ สาธรสุเมธี


          วันที่ 26 เมษายนของทุกปีเป็นวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ World Intellectual Property Day เรามาร่วมเฉลิมฉลองและทำความรู้จักกับวันสำคัญวันนี้ รวมถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ที่มีต่อความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลกเราผ่านบทความนี้กัน  

ทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันการประดิษฐ์และสร้างสรรค์

          ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยผลักดันการคิดค้น ประดิษฐ์ และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประดิษฐ์หรือผู้สร้างสรรค์ได้เผยแพร่ผลงานเหล่านั้นไปยังผู้บริโภค

          เนื่องจากการประดิษฐ์หรือการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นต้องใช้ความมานะพยายามฟันฝ่าความล้มเหลว ใช้กำลังสมอง รวมถึงเงินลงทุน หลายคนไม่กล้าเริ่มต้น หลายคนท้อแท้และหยุดทำต่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ผลงานการประดิษฐ์และการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการให้สิทธิแก่ผู้ประดิษฐ์หรือผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อใช้แสวงหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยจูงใจให้ผู้ประดิษฐ์หรือผู้สร้างสรรค์ยอมเผชิญกับความเสี่ยงในการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลงานที่อาจล้มเหลว และยอมเปิดเผยข้อมูลผลงานวิจัยให้เป็นความรู้แก่สาธารณะในรูปแบบของงานเขียนหรือรายละเอียดการประดิษฐ์ผ่านการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งท้ายสุดแล้วผลงานวิจัยเหล่านั้นจะได้รับการพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ในวงกว้างเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนสุขสบายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เห็นได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการสร้างและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็คือ การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญานั่นเอง

          เราจะเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดขึ้นหากมองย้อนไปในอดีตที่ยารักษาโรคยังมีจำกัด การเดินทางและการสื่อสารเป็นไปโดยยากลำบาก เทียบกับยุคนี้ที่วิทยาการถูกพัฒนาตามลำดับและก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนได้รับการรักษาจากอุปกรณ์และยาที่ทันสมัยทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยลดลง อายุขัยของคนเรายาวนานขึ้น ผู้พิการมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น การสื่อสารทำได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา

          ทรัพย์สินทางปัญญามีหลายประเภท กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทต่างกันไป ดังนั้นผู้ขอรับความคุ้มครองต้องพิจารณาลักษณะของงานที่ต้องการขอรับความคุ้มครองและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ประกอบกับแนวทางการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมแก่บริบท โดยทรัพย์สินทางปัญญาที่กฎหมายไทยให้ความคุ้มครอง ได้แก่

  1. ลิขสิทธิ์
  2. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตร สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  3. ความลับทางการค้า
  4. แบบผังภูมิของวงจรรวม
  5. เครื่องหมายการค้า
  6. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
  7. ความคุ้มครองพันธุ์พืช

          ทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible asset) ใช้ประโยชน์ได้หลายคนพร้อม ๆ กัน ต่างจากทรัพย์สินที่จับต้องได้ (tangible asset) อย่างหนังสือ โทรศัพท์ หรือที่ดิน ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ เช่น โทรศัพท์ ที่เมื่อคนหนึ่งใช้อยู่ คนอื่นใช้พร้อมกันไม่ได้ แต่ซอฟต์แวร์หรือสิ่งประดิษฐ์ในโทรศัพท์ที่ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์และผู้บริโภคทั่วโลกนำไปใช้ได้

ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีกำหนดระยะเวลาและอาณาเขต

          แม้ว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของสิทธิ แต่ระยะเวลาที่กฎหมายให้ความคุ้มครองนั้นมีจำกัด เช่น สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุความคุ้มครอง 20 ปีนับแต่วันยื่นขอรับความคุ้มครอง อนุสิทธิบัตรมีอายุความคุ้มครอง 10 ปีนับแต่วันยื่นขอรับความคุ้มครอง ลิขสิทธิ์มีอายุความคุ้มครองโดยทั่วไปตั้งแต่เมื่อสร้างสรรค์ผลงานไปจนตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หมายความว่า เมื่อสิ้นสุดอายุความคุ้มครอง ความรู้เหล่านั้นจะไปสู่สาธารณะ (public domain) ใครจะนำทรัพย์สินทางปัญญานี้ไปใช้ก็ได้

          นอกจากนี้สิทธิความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจำกัดเฉพาะในอาณาเขตที่ได้ขอรับความคุ้มครองเท่านั้น เช่น ผลงานที่ได้ขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน จะได้รับความคุ้มครองสิทธิแค่ใน 2 ประเทศนี้ หมายความว่า ถ้าไม่ได้ขอความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทยไว้ เจ้าของผลงานนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทย ใครก็ได้ที่อยู่ในประเทศไทยสามารถนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิ  

          อย่างไรก็ตาม กรณีของลิขสิทธิ์และความลับทางการค้ามีความแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศตามกฎหมายของแต่ละประเทศสมาชิกภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (the “TRIPs Agreement”)  Berne Convention 1883 ส่งผลให้เจ้าของไม่ต้องดำเนินการขอรับความคุ้มครองต่างประเทศอีก หมายความว่า การลอกเลียนงานเขียนหรือนำงานเขียนของชาวต่างชาติมาแปลเป็นภาษาไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของผลงานชาวต่างชาตินั้นสามารถดำเนินคดีกับผู้ละเมิดในประเทศไทยได้

การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา

           ในช่วงเวลาที่เจ้าของผลงานมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวตามอายุความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าของผลงานอาจใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาด้วยตนเอง โดยพัฒนาต่อยอดจนกระทั่งเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แตกต่างสู่มือผู้บริโภค ส่วนกรณีที่เจ้าของผลงานไม่ใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง สามารถโอนสิทธิความเป็นเจ้าของ (assign) หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ (license) โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของผู้ที่รับโอนความเป็นเจ้าของหรือรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และเลือกรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในผลงานวิจัยที่เหมาะกับความต้องการของตนไปใช้ประโยชน์ได้ ในขณะที่เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์เป็นรางวัลสำหรับประดิษฐ์และสร้างสรรค์ นอกจากเป็นกำลังใจให้สร้างผลงานแล้ว ยังเป็นทุนทรัพย์ในการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ผลงานต่อไปด้วย

          ส่วนกรณีการประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ผลงานที่ดำเนินการภายใต้การเป็นพนักงานองค์กรนั้น มักกำหนดให้องค์กรเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นภายใต้การจ้างงาน โดยหน่วยงานวิจัยภาครัฐและมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่กำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์แก่ผู้วิจัยด้วย ซึ่งนอกจากองค์กรจะนำผลประโยชน์ไปเป็นทุนวิจัยและพัฒนาขององค์กรในระยะต่อไปแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้วิจัยในขณะเดียวกัน

          ในกรณีที่มีบุคคลนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในประเทศที่เจ้าของผลงานได้ขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไว้โดยมิได้ขอรับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน ถือว่าผู้อื่นนั้นใช้ประโยชน์ในผลงานโดยละเมิดสิทธิของเจ้าของผลงาน เจ้าของผลงานสามารถดำเนินคดีละเมิดและเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิดได้

          นอกจากทรัพย์สินทางปัญญาจะสร้างรายได้จากค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แล้ว ปัจจุบันการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ระดมทุนหรือเป็นหลักประกันได้รับการยอมรับมากขึ้นและเป็นอีกแนวทางการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา

ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญากับเรา

          สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เราใช้กันทุกวันนี้สร้างขึ้นจากทรัพย์สินทางปัญญาและมักจะมีความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ครีมบำรุงผิว ยารักษาโรค ฯลฯ แล้วสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวอะไรกับเรา ในเมื่อเราไม่ได้เป็นคนประดิษฐ์คิดค้นสักหน่อย ถ้าคิดแบบนี้เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาอาจดูไกลตัวและไม่น่าจะสำคัญอะไรมากมาย แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น

          พวกเราทุกคนได้เคยสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์และเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดที่วาดขึ้นเองจากจินตนาการ เรียงความที่แต่งส่งครู ภาพประทับใจที่ได้ลงมือถ่ายภาพเอง หรือไปจนถึงกรณีพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้อะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้หลากหลาย ได้แก่ ลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ที่อยู่ในเครื่องนั้น สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในกลไกของเครื่อง และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปลักษณ์ภายนอกของเครื่องนั้น หากมีคนอื่นต้องการนำผลงานเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าจะนำเรียงความของเราไปอ้างว่าเป็นของตัวเอง นำภาพถ่ายของเราไปประกอบหนังสือ หรือสร้างเครื่องมือที่กลไกการทำงานเหมือนของเรา ควรขอรับอนุญาตใช้สิทธิในผลงานจากเรา ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากเรา เรามีสิทธิดำเนินคดีละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ ในทางกลับกัน หากไม่มีความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เราอาจเสียกำลังใจในการสร้างสรรค์งานเขียน และไม่อยากเสี่ยงลงทุนสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ใคร ๆ จะมาลอกเลียนแบบได้โดยไม่จ่ายค่าตอบแทน 

          ในกรณีที่เราพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาจได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ที่อยู่ในเครื่องนั้น สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในกลไกของเครื่อง สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปลักษณ์ภายนอกของเครื่อง โดยในช่วงเวลาที่กฎหมายให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอยู่จะเป็นช่วงที่ทำให้ธุรกิจของเรามีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง นอกจากนี้หากเราทำธุรกิจเฉพาะในตลาดสินค้าหนึ่ง ๆ เช่น ตลาดสินค้าสำหรับเด็ก เราอาจได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมจากการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาของเราในตลาดสินค้าอื่น ๆ เช่น ตลาดสินค้ากีฬา ได้ด้วย

          แม้ว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะมีช่วงเวลาการคุ้มครองจำกัดตามกฎหมาย เมื่อสิ้นอายุความคุ้มครอง คนอื่นสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาของเราไปใช้ประโยชน์ได้โดยเสรี ซึ่งตอนนั้นเทคโนโลยีก็ล้าสมัยไปเสียแล้ว เราจึงไม่ได้เสียประโยชน์อะไรและก็ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแต่เพียงผู้เดียวมาแล้ว

About Author