วันที่ 26 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันที่ยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้เป็นวันสากลของการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนโลก (International Day for the Conservation of the Mangrove Ecosystem) หรือที่นิยมเรียกกันว่าป่าชายเลนโลก ในปี 2567 นี้ สาระวิทย์จึงขอยกตัวอย่างความสำคัญของป่าชายเลน 6 ประการ เพื่อร่วมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าประเภทนี้
- ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งหลายชนิดเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ปลากะพงขาว ปลาเก๋า กุ้งแชบ๊วย หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปูม้า ปูทะเล
- ป่าชายเลนเป็นแหล่งพืชอาหารและสมุนไพรที่คนท้องถิ่นใช้เป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรค ตัวอย่างเช่น ชะคราม ผักเบี้ยทะเล เหงือกปลาหมอ ตะบูนขาว ตาตุ่มทะเล
- ป่าชายเลนเป็นปราการธรรมชาติช่วยลดความรุนแรงคลื่นและลม ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากินของคนในพื้นที่
- ป่าชายเลนเป็นตัวช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะพืชป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง ทำให้กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้มาก
- ป่าชายเลนเป็นพื้นที่กักเก็บสิ่งปฏิกูลประเภทมูลฝอย สารพิษ รวมถึงโลหะหนักจากบนบก ช่วยชะลอและลดปริมาณสิ่งแปลกปลอมที่ไหลออกสู่ทะเล
- ป่าชายเลนช่วยรักษาสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง
ที่มาและรายละเอียดเพิ่มเติม : ส่วนส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง