วันพยาบาลสากล (International Nurses Day) 12 พฤษภาคม

          ปี พ.ศ. 2517 International Council of Nurses (ICN) ประกาศให้วันพยาบาลสากล ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้บุกเบิกปรัชญาการพยาบาลสมัยใหม่

          ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 ในครอบครัวชนชั้นไฮโซ ฐานะร่ำรวยของอังกฤษ แต่ไม่ชอบออกงานสังคม ไม่นิยมกิจกรรมและไลฟ์สไตล์แบบที่สาวไฮโซส่วนใหญ่ทำกัน สิ่งที่เธอชอบทำมาตั้งแต่เด็กคือการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ยากไร้ ส่วนอาชีพในฝันคือ “พยาบาล”

          แน่นอนว่าพ่อแม่ของเธอไม่เห็นด้วย พยาบาลไม่ใช่อาชีพสำหรับคนในสังคมชั้นสูง ทั้งสองต้องการให้ลูกสาวแต่งงานกับผู้ชายจากครอบครัวดี ๆ มีชีวิตที่สุขสบาย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลต้องการ เธอปฏิเสธการแต่งงาน ขอทำตามความฝันของตัวเอง ซึ่งในที่สุดก็ได้เข้าเรียนพยาบาลที่ Lutheran Hospital of Pastor Fliedner in Kaiserwerth ในประเทศเยอรมนี เมื่อตอนอายุได้ 24 ปี

          หลังจากเรียนจบ ไนติงเกลกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลในมิดเดิลเซ็กซ์ที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่อหิวาตกโรคกำลังระบาด เธอวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดนี้โดยให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งก็ได้ผลดีมาก จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลง

          หลังจากที่สงครามไครเมีย (Crimean War) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2396 มีทหารอังกฤษกว่าหมื่นคนได้รับบาดเจ็บและอยู่ในโรงพยาบาลทหาร ซึ่งขณะนั้นไม่มีพยาบาลผู้หญิงอยู่เลย ไนติงเกลได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือจากทางกองทัพ เธอกับพยาบาลรวม 34 คน จึงรีบออกเดินทางไปยังไครเมีย

          ที่ไครเมีย สภาพในโรงพยาบาลย่ำแย่สุด ๆ พื้นสกปรก เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล หนูและแมลงวิ่งกันขวักไขว่ ไม่มีอะไรที่ถูกสุขลักษณะเลย น้ำสะอาดก็เริ่มขาดแคลน แถมยังมีการระบาดของไข้ไทฟอยด์และอหิวาตกโรคในหมู่ทหารบาดเจ็บเพิ่มเข้าไปอีก มีคนตายจากโรคร้ายมากขึ้นทุกวัน

          ไนติงเกลเห็นแล้วก็ไม่รอช้า รวบรวมคน รวมทั้งผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก มาร่วมปฏิบัติการคลีนแอนด์เคลียร์ ทำความสะอาดพื้นที่โรงพยาบาลแบบทั่วทุกซอกทุกมุมทันที โรงพยาบาลมีสภาพดีขึ้น คนตายน้อยลง เธอทุ่มเททำงานอย่างมุ่งมั่น แม้ตอนกลางคืนก็ยังถือตะเกียงออกไปเดินสอดส่องและคอยดูแลผู้ป่วย พวกทหารในโรงพยาบาลเรียกเธอว่า “the Lady with the lamp”

          นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้ว ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเซตระบบต่าง ๆ ในโรงพยาบาลที่ถูกสุขลักษณะและเอื้อต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรงอาหาร ห้องซักล้าง ห้องสมุด เธอยังเขียนหนังสือเรื่อง Notes on Matters Affecting the Health, Efficiency and Hospital Administration of the British Army

          ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนการปรับปรุงโรงพยาบาลทหารในไครเมียไว้อย่างละเอียด หนังสือเล่มนี้เป็นต้นแบบ และจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปการสาธารณสุขในโรงพยาบาลทหารของอังกฤษ

          “Nightingale Rose Diagram” เป็นภาพอินโฟกราฟิกที่ไนติงเกลทำขึ้น เพื่อแสดงข้อมูลสถิติสาเหตุและอัตราการตายของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทหารในไครเมียแบบครบจบในแผ่นเดียว แบบเห็นปุ๊บเข้าใจเลยว่าสาเหตุการตายเกิดจากการจัดการด้านสาธารณสุขในโรงพยาบาลที่ไม่ดีพอ เมื่อมีการปรับปรุงให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น อัตราการตายของผู้ป่วยก็ลดลง ด้วยความสามารถอันโดดเด่นในด้านนี้ เธอจึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของ Royal Statistical Society ของอังกฤษ และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ American Statistical Assosciation

          ในปี พ.ศ. 2403 ไนติงเกลก่อตั้ง Nightinggale Training School for Nurses ที่โรงพยาบาล St. Thomas ในลอนดอน ด้วยความที่เธอมีชื่อเสียงโด่งดัง เรียกว่าเป็นไอดอลของผู้หญิงอังกฤษในยุคนั้นก็ว่าได้ การก่อตั้งโรงเรียนฝึกพยาบาลแห่งนี้จึงเป็นเหมือนการปลุกกระแสอาชีพพยาบาลให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น

          ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังคงทำงานด้านการพยาบาลและการปฏิรูปสาธารณสุขจนบั้นปลายของชีวิต เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ในวัย 90 ปี


อ้างอิง

https://www.history.com/topics/womens-history/florence-nightingale-1

About Author