ม.มหิดลเปิด วท.ม.อนามัยโรงเรียนนานาชาติ ฝึกทักษะครู ส่งพลังสุขภาวะยั่งยืน

การดูแลอนามัยในโรงเรียนเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะ “พยาบาลโรงเรียน” หรือ “ชั่วโมงวิชาสุขศึกษา”

การดูแลอนามัยในโรงเรียนที่ยั่งยืนที่สุด คือ การที่ทุกคนในโรงเรียนมีองค์ความรู้ และทักษะในการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.พัฒนียา ปรางทิพย์ หัวหน้าภาควิชาโภชนศาสตร์เขตร้อนและวิทยาศาสตร์ และ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยโรงเรียน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วท.ม.อนามัยโรงเรียนนานาชาติ เป็นหลักสูตรที่มอบองค์ความรู้ในการดูแลและบริหารจัดการสุขภาพแก่ครู เพื่อส่งต่อ “พลังสุขภาวะ” ไปยังนักเรียนในโรงเรียน

นับเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่ได้มีการจัดตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยโรงเรียน เป็นหลักสูตรนานาชาติ ขึ้นที่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจุดมุ่งหมายของหลักสูตรฯ ไม่ได้มุ่งเพียงระดับประเทศ แต่มุ่งสู่ระดับโลก

โดยเชื่อว่าหากครูมีองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะที่ดี นักเรียนก็จะมีองค์ความรู้ และทักษะสุขภาวะที่สามารถพึ่งพาตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ต่อไปด้วย

ที่ผ่านมา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยโรงเรียน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับความสนใจจากครูโรงเรียนจากหลากหลายประเทศมาลงทะเบียนเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ออกแบบและจัดการอนามัยโรงเรียน ณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้จัดให้ศึกษาวิจัยในพื้นที่จริง โดยเน้น “ความคิดเชิงเคราะห์” ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม และโภชนาการ

สำเร็จการศึกษาได้เพียงภายใน 1 ปีเป็นอย่างต่ำ โดยไม่ต้องเสียเวลาทำวิทยานิพนธ์เต็มรูปแบบ หรือจะเลือกอีกแผนการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ทำวิจัยตามหัวข้อที่สนใจและสำเร็จการศึกษาในอีกปีต่อมาก็ย่อมได้

ผลงานที่ผ่านมาของนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยโรงเรียน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่น่าภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ การต่อยอดวิชาการจัดการอนามัยโรงเรียน การวิเคราะห์อาหารของหลักสูตรฯ จนสามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้จริง นำไปประยุกต์ใช้กับโรงเรียนของตนเอง และบริหารจัดการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ และเกิดความต่อเนื่องได้

ปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ที่ทำให้อนามัยโรงเรียนในประเทศไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว เนื่องจากผู้สอนในโรงเรียนส่วนใหญ่มีวุฒิครู แต่ยังขาดองค์ความรู้อนามัยโรงเรียนในระดับบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำไปใช้ในการยกระดับ และต่อยอดขอทุนจากภาครัฐและเอกชนมาพัฒนาสุขภาวะภายในโรงเรียนได้อย่างตอบโจทย์

ในอนาคต หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยโรงเรียน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมต่อยอดสู่โครงการเรียนรู้ตลอดชีพ MAP-C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขยายโอกาสสำหรับครูโรงเรียนที่ต้องการสะสมหน่วยกิตไว้เทียบโอนศึกษาต่อในหลักสูตรปกติของคณะฯ ได้ต่อไป

และจะขยายผลสู่ระดับนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรระดับโลก อาทิ องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Eastern Organization – SEAMEO) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) หรือ “องค์การยูเนสโก” เพื่อร่วมสร้าง “ผู้นำอนามัยโรงเรียนระดับโลก” ให้ครูโรงเรียนจากประเทศต่างๆ ที่อยู่ในความร่วมมือได้ส่ง “พลังสุขภาวะ” ให้ศิษย์ได้พึ่งพาตนเองต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ขอบคุณภาพจาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author