โดย ป๋วย อุ่นใจ
ยังเป็นที่กังขาว่า ราชานักล่ารุ่นใหญ่อย่าง “ไทเเรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex)” หรือชื่อในวงการที่คนทั่วไปมักจะรู้จักกันคือ ทีเร็กซ์ (T. rex) นั้นฉลาดมากขนาดไหน
เรื่องนี้เป็นที่ถกกันมาตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณ และก็ยังจะเป็นประเด็นถกกันต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีใครสร้างทีเร็กซ์ขึ้นมาใหม่และเอามาวิจัยได้
ที่จริงเรื่องนี้ผมเคยเขียนลงในคอลัมน์ทะลุกรอบของผมในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปีก่อน ในตอนที่ ซูซานนา เฮอร์คูลาโน ฮูเซล (Suzanna Herculano-Houzel) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt University) เปิดประเด็นเรียกทัวร์ใน Journal of Comparative Neurology ว่า “ถ้าประเมินสติปัญญาจากจำนวนเซลล์ประสาทในสมอง ทีเร็กซ์อาจจะฉลาดไม่น้อยไปกว่าลิงบาบูน !! ฉลาดพอที่จะแก้ปัญหาง่าย ๆ ได้ เรียนรู้ที่จะใช้เครื่องทุ่นแรง ไม่แน่อาจจะฉลาดพอที่จะส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้ด้วยซ้ำ”
งานของซูซานนาตบหน้านักบรรพชีวินวิทยามากมายที่เชื่อว่าแม้ว่าสมองทีเร็กซ์จะค่อนข้างใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงความเฉลียวฉลาดแล้วก็ไม่น่าจะเท่าไหร่
เมื่อทฤษฎีของซูซานนาเปิดตัวออกมาโด่งดัง แน่นอนว่านักวิจัยกลุ่มใหญ่ต้องออกมาแย้ง แต่ในตอนแรกการโต้แย้งก็ทำได้แค่สิ่งที่ไม่ต่างจากการค่อนแคะหาจุดอ่อนที่งานของซูซานนาอธิบายไม่ได้ เอามาโต้กันแต่ไม่ได้มีหลักฐานอะไรชัดเจนมาหักล้าง
วิทยาศาสตร์ต้องสู้กันด้วยเหตุผล พวกทีมนักวิจัยรุ่นเก๋าทั้งจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรีย เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก ก็เลยมารวมตัวกันเป็นทีมพันธมิตร วิเคราะห์หลักฐานทั้งหมดเท่าที่จะพอจะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการศึกษาวงศ์วานวิวัฒนาการ (phylogeny) ไปจนถึงสัณฐานของส่วนต่าง ๆ ของสมอง และการประเมินจำนวนเซลล์ประสาท พวกเขาเชื่อว่างานของซูซานนามีจุดอ่อนมากมาย และพวกเขาก็พร้อมที่จะโต้กลับแบบแรง ๆ
และในกลางปี พ.ศ. 2567 ทีมพันธมิตรก็ออกเปเปอร์ออกมาตีงานวิจัยของซูซานนาอย่างถึงพริกถึงขิง ในวารสาร The Anatomical Record
ผลจากการวิเคราะห์ของพวกเขาออกมาน่าสนใจ เพราะแม้ว่าจะมีหลักฐานในอดีตว่าไดโนเสาร์นั้นมีความสัมพันธ์อย่างเเน่นแฟ้นกับพวกสัตว์ตระกูลนก นกอีมู นกกระจอกเทศ แต่แผนผังวงศ์วานวิวัฒนาการที่ทีมลองทำออกมาบ่งชี้ชัดว่าจริง ๆ แล้วกลุ่มไดโนเสาร์นั้นยังไม่ได้เป็นนกเต็ม ๆ ตำแหน่งของพวกมันในสายวิวัฒนาการอยู่ระหว่างนกกับสัตว์เลื้อยคลานอย่างจระเข้
และถ้าเทียบสัณฐานของสมองทีเร็กซ์กับสัตว์อื่น ๆ ที่มีในปัจจุบันแล้ว สมองที่มีโครงสร้างและสัณฐานใกล้เคียงกับทีเร็กซ์มากที่สุดไม่ใช่นก แต่เป็นจระเข้ ดังนั้นทางทีมพันธมิตรจึงเชื่อว่าการเปรียบเทียบสมองของทีเร็กซ์กับสมองของนก อย่างอีมูหรือนกกระจอกเทศแบบที่ซูซานนาทำนั้นน่าจะให้ผลการประมาณจำนวนเซลล์สมองคลาดเคลื่อนไปมาก ถ้าจะเปรียบเทียบกันจริง ๆ กับสัตว์ในปัจจุบันก็น่าจะเลือกสัตว์ที่มีโครงสร้างสมองใกล้เคียงทีเร็กซ์อย่างจระเข้มาเป็นตัวเทียบน่าจะให้ผลตรงความเป็นจริงมากกว่า
และเพราะความหนาเเน่นของเซลล์ประสาทในสมองของนกนั้นมากกว่าของสัตว์เลื้อยคลาน การตีความจำนวนเซลล์ประสาทในโมเดลของซูซานนาจึงน่าจะเกินไปกว่าความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย
และถ้าจะจัดจำแนก ทีเร็กซ์นั้นควรเป็นสัตว์เลื้อยคลาน เพราะทีเร็กซ์นั้นจัดอยู่ในกลุ่มเทโรพอด หรือไดโนเสาร์ที่เดินสองขา ขาหน้าเล็กและมีกระดูกกลวงเหมือนนกที่ถ้าว่ากันตามจริง จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลาน
แม้ว่านกจะเป็นลูกหลานที่วิวัฒนาการมาจากเทโรพอด แต่ถ้าดูโครงสร้างร่างกาย โครงสร้างและสัณฐานของกะโหลกแล้ว สมองของทีเร็กซ์ยังเป็นสัตว์เลื้อยคลานอยู่ ประมาณพวกจระเข้หรืออัลลิเกเตอร์ ไม่ใช่นก
สมองจระเข้กับสมองนกนั้นไม่เหมือนกัน ดัก ไวลี (Doug Wylie) นักประสาทสรีรวิทยา จากมหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตา (University of Alberta) หนึ่งในนักวิจัยจากทีมพันธมิตรกล่าว “ครั้งแรกที่ผมผ่าเปิดสมองจระเข้ พอเปิดด้านบนของกะโหลกมันออกมา ผมก็ต้องแปลกใจว่า เฮ้ยยยย…สมองมันหายไปไหน เพราะมันมีช่องว่างใหญ่มากอยู่ในนั้น”
เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะสมองของสัตว์เลื้อยคลานนั้นเต็มไปด้วยของเหลวที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid)
“ในจระเข้และอัลลิเกเตอร์ยุคใหม่ สมองกินพื้นที่อยู่ในโพรงกะโหลกแค่เพียงสามสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พื้นที่สมองในกะโหลกนั้นเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์” ไค เเคสเพอร์ (Kai Casper) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไฮน์ริช ไฮน์ (Heinrich Heine University) ในเยอรมนี อีกหนึ่งนักวิจัยในทีมพันธมิตรเผย
และที่สำคัญ ขนาดสมองกับน้ำหนักตัวจะต้องสัมพันธ์กัน สัตว์ตัวใหญ่ สมองก็ใหญ่ สัตว์ตัวเล็ก สมองก็เล็กตาม การที่ซูซานนาเอาจำนวนเซลล์ประสาทที่ก็ประเมินเกินไปอยู่แล้วมาเทียบกับสมองบาบูน ก็ยังเป็นอะไรที่ดูมักง่ายเกินไปนิด
เพราะถ้าเทียบขนาด ทีเร็กซ์ก็ไม่ใช่จะตัวเล็ก โดยเฉลี่ยแล้วทีเร็กซ์จะมีน้ำหนักราว 5-7 ตัน สูงราวสามเมตรครึ่ง และมีความยาวจากหัวถึงหางอยู่ที่ประมาณ 12 เมตร ตามที่มีบันทึกไว้ “สกอตตี (Scotty)” ทีเร็กซ์ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบในรัฐซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) ในแคนาดา อาจมีความยาวได้ถึง 13 เมตรและหนักถึงเกือบเก้าตัน ในขณะที่บาบูนตัวใหญ่สุดก็ยาวไม่ถึงเมตร และหนักเพียงแต่ 30-40 กิโลกรัม
“การที่ซูซานนาเอาทีเร็กซ์หนัก 7 ตัน มาเทียบกับลิงบาบูนหนัก 40 กิโลกรัม แล้วบอกว่าจำนวนเซลล์สมองเท่ากันจะต้องฉลาดพอ ๆ กัน มันก็คงไม่น่าจะเหมือนกันไหม” คริสเตียน กูเทียเรซ (Cristian Gutierrez) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตา (University of Alberta) หนึ่งในนักวิจัยจากทีมพันธมิตรแย้ง
“ความเป็นไปได้ที่ทีเร็กซ์จะฉลาดเฉลียวได้ไม่ต่างไปจากบาบูนนั้นทั้งน่าตื่นเต้นและน่าสะพรึงกลัว เพราะมันอาจจะเปลี่ยนมุมมองของเราเกี่ยวกับอดีตไปเลย” ดาร์เรน เนส (Darren Naish) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) อีกหนึ่งในทีมพันธมิตรกล่าว “แต่งานวิจัยของเราชี้ชัดว่าข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดที่มีมันขัดแย้งกับไอเดียนี้”
“ผมยังเชื่อนะว่ามุมมองแบบดั้งเดิมที่เชื่อกันนั้นถูกต้อง” ไคย้ำ …สำหรับไคและทีมพันธมิตร เป็นไปไม่ได้ว่า “สติปัญญาของทีเร็กซ์จะเทียบชั้นกับบาบูน”
แต่ไม่ใช่จะบอกว่าทีเร็กซ์และเทโรพอดนั้นไม่ฉลาดนะ พวกมันน่าจะฉลาดและมีสติปัญญาอยู่พอตัว เพียงแต่ว่าไม่ได้ฉลาดแบบนกหรือบาบูนก็เท่านั้น “สติปัญญาของพวกมันอย่างมากก็น่าจะเทียบได้กับจระเข้ อะไรประมาณนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าทีเร็กซ์ก็คือจระเข้ยักษ์ที่ชาญฉลาด ซึ่งแค่นั้นก็น่าตื่นเต้นแล้ว” ดาร์เรนกล่าว
การเปิดตัวงานวิจัยของทีมพันธมิตรทำให้เรื่องราวของการประเมินสติปัญญาของทีเร็กซ์กลับมาเป็นประเด็นร้อนฉ่าอีกครั้ง
แม้ว่าจะยังนึกไม่ออกว่าถ้ารู้แล้วว่าทีเร็กซ์จะฉลาดแค่ไหน แล้วจะเอามาประยุกต์ใช้ต่อยอดสร้างประโยชน์กับมวลมนุษยชาติได้ยังไง แต่ส่วนตัว การถกกันในทางวิชาการแบบนี้ ถือเป็นอะไรสนุก น่าสนใจ เปิดมุมมองใหม่ ชวนให้ติดตาม รู้สึกอ่านไป คิดตามไป ก็ได้เอกเซอร์ไซส์สมองตามไปด้วย ยิ่งจัดกันเต็ม ๆ แบบนี้ บอกเลยว่าได้อรรถรสมาก ๆ
แต่ในท้ายที่สุดสิ่งนึงที่ต้องตระหนักก็คือ ไม่ว่าข้อมูลจะดูหนักแน่นเพียงไร ทุกอย่างต้องฟังหูไว้หู ถึงจะเหตุผลฟังดูโก้หรู แต่ทฤษฎีก็ยังเป็นเพียงแค่ทฤษฎี
ตราบใดที่ไม่มีใครมีสมองจริงของทีเร็กซ์มาให้ทดสอบสติปัญญาจริง ๆ เรื่องนี้ก็จะยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ต่อไป
แต่สำหรับผม… ตอนนี้ก็ลุ้นต่อครับว่าทีมซูซานนาจะโต้กลับทีมพันธมิตรอย่างไร
บอกเลยว่ามันส์แน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- เปเปอร์ทีมพันธมิตร https://anatomypubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/ar.25459
- เปเปอร์ซูซานนา https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/cne.25453