เรื่องโดย รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์
กาชาดและเครื่องหมายกาชาดมีประวัติยาวนานมากว่าร้อยปี แม้จะเริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บในสงคราม แต่ปัจจุบันบทบาทของกาชาดครอบคลุมไปถึงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากทั้งจากยามสงคราม ยามสงบ และจากวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างมีมนุษยธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีความเป็นกลาง ไม่หวังสิ่งตอบแทน และมีเครือข่ายความร่วมมืออยู่ทั่วโลก ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่วางรากฐานจนก่อเกิดเป็นสภากาชาด องค์กรความช่วยเหลือที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี คือผู้ชายซึ่งมีหัวคิดทันสมัยและมีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความเอื้ออาทรคนนี้ ฌ็อง อ็องรี ดูว์น็อง
ฌ็อง อ็องรี ดูว์น็อง (ที่มาภาพ)
ฌ็อง อ็องรี ดูว์น็อง (Jean Henry Dunant) หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อ อังรี ดูนังต์ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2371 ในครอบครัวชาวสวิสที่มีฐานะดีและเป็นสายบุญ ทุกคนในครอบครัวดูว์น็องทำงานการกุศลช่วยคนทุกข์ยากอยู่เสมอ ตัวเขาเองจึงได้ซึมซับรับเอาจิตสาธารณะนี้ไว้เต็มๆ
นอกจากมีจิตสาธารณะแล้ว ดูว์น็องยังมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง YMCA (Young Men’s Christian Association) ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2395 รวมทั้งเป็นผู้ผลักดันให้เกิดเครือข่าย YMCA ทั่วโลก และเป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการจัดประชุม YMCA นานาชาติเป็นครั้งแรกในอีกสามปีถัดมา
ในเรื่องของหน้าที่การงาน ดูว์น็องเริ่มต้นฝึกงานธนาคารในเจนีวา ก่อนจะผันตัวไปทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยหน้าที่การงาน เขาต้องเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและแอฟริกาใต้ จุดเปลี่ยนของชีวิตดูว์น็องเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาเดินทางไปทำธุรกิจที่แอลจีเรีย แล้วแผนธุรกิจที่วางไว้ไม่ราบรื่นนัก มีปัญหาติดขัดกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เขาจึงต้องวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจ (แอลจีเรียเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส) ซึ่งขณะนั้นพระองค์อยู่ที่สมรภูมิซอลเฟริโน (Solferino) ทางตอนเหนือของอิตาลี
เมื่อดูว์น็องเดินทางไปถึง แทนที่จะได้ไปนำเสนอแผนธุรกิจตามที่วางไว้ ชีวิตเขากลับต้องพลิกผัน เมื่อไปพบเจอกับภาพโศกนาฏกรรมชวนปวดใจ มีทหารบาดเจ็บหลายพันนาย ในขณะที่มีแพทย์สนามเพียงแค่หกคนเท่านั้น ด้วยจิตวิญญาณสายบุญที่มีอยู่ในตัว ดูว์น็องตัดสินใจเข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยทีมแพทย์ดูแลทหารบาดเจ็บ ไม่ว่าจะช่วยจัดหาน้ำ อาหาร เสื้อผ้า ช่วยทำแผล ทำความสะอาด ทำสารพัดงานที่พอจะช่วยได้
หลังจากจบสงครามซอลเฟริโน ในปี ค.ศ. 1859 ดูว์น็องยังอินกับเรื่องราวที่เกิดขั้น เขากลับมาเขียนหนังสือเรื่อง Un souvenir de Solférino (A memory of Solferino) ที่ไม่เพียงบอกเล่าประสบการณ์ที่พบเจอ แต่ยังนำเสนอไอเดียใหม่ๆ พร้อมแผนดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทหารบาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามด้วยมนุษยธรรม เขามองว่าทุกคนต้องได้รับการรักษาที่เหมือนกัน ไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ให้ความช่วยเหลือก็ต้องปลอดภัยด้วยการมีตราสัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่ใช้เหมือนกันทั่วโลก ไอเดียนี้เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน
ใจความสำคัญในหนังสือ A memory of Solferino ที่ดูว์น็องเขียนขึ้นมานั้น มีความทันสมัย เข้าใจถึงแก่นของปัญหา ซึ่งโดนใจผู้คนเป็นอย่างมาก เขาเสนอว่า (1) ควรสร้างเครือข่ายอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ในประเทศต่างๆ ให้มากที่สุด เตรียมพร้อมไว้เผื่อสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ (2) ควรกำหนดสัญลักษณ์สากลที่ช่วยจำแนกและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ในพื้นที่สงครามหรือในที่เกิดเหตุ (3) ต้องการให้ข้อเสนอนี้เป็นหลักสากลที่อยู่ในความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2407 อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ฉบับแรกได้ระบุข้อตกลงดังกล่าวไว้ด้วย โดยบอกว่าในยามสงครามทุกฝ่ายจะต้องให้ความช่วยเหลือทหารบาดเจ็บอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเขาแยกเรา รวมทั้งกำหนดให้หน่วยแพทย์และอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ของทุกประเทศที่ทำงานในพื้นที่ใช้สัญลักษณ์สากลคือ กาชาดสีแดงบนพื้นขาว (red cross) หรือเสี้ยววงเดือนแดง (red cresent) สำหรับประเทศมุสลิม (ปี พ.ศ. 2548 มีการเพิ่มสัญลักษณ์คริสตัลแดง (red crystal) เข้ามาสำหรับประเทศที่ไม่ต้องการใช้สัญลักษณ์ทั้งสองที่กล่าวมา)
ตราสัญลักษณ์ กาชาดสีแดงบนพื้นขาว (red cross) เสี้ยววงเดือนแดง (red cresent) และคริสตัลแดง (red crystal)
สิ่งที่ดูว์น็องเขียนลงในหนังสือว่าแยบคายแล้ว แผนการเผยแพร่หนังสือดูว์น็องก็ยังแยบยลอีกด้วย เขาตีพิมพ์เวอร์ชันแรกพร้อมข้อความ “ห้ามจำหน่าย” ส่งไปให้เพื่อนบางส่วน แล้วเลือกส่งไปให้กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้นำประเทศ นักการเมือง และคนรู้จักที่มีอำนาจพอจะผลักดันสิ่งที่เขาวาดหวังให้เกิดขึ้นจริงได้ หลายคนส่งจดหมายชื่นชมและพร้อมสนับสนุนดูว์น็อง เมื่อมีกระแสตอบรับที่ดี เขาตีพิมพ์เวอร์ชันสองเพื่อจำหน่ายตามมา ตีพิมพ์เวอร์ชันสามแบบลดสเปกให้มีราคาที่ถูกลง และตีพิมพ์เป็นภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา แผนการเผยแพร่แบบนี้เข้าถึงทั้งคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและคนกลุ่มใหญ่ได้ในเวลารวดเร็ว ซึ่งในที่สุดสิ่งที่ดูว์น็องวาดหวังไว้ก็เป็นจริง เมื่อมีการก่อตั้ง “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross)” ขึ้นในปี พ.ศ. 2406 ซึ่งเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและทำหน้าที่เลขานุการ
คณะกรรมกาชาดระหว่างประเทศดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเข้มแข็งทั้งในภาวะสงครามและยามสงบ ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นดี แต่ชีวิตของอ็องรี ดูว์น็อง กลับตาลปัตร จากชาติกำเนิดที่มั่งมี ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสวยหรู โครงการที่วาดฝันไว้ก็กำลังดำเนินไปด้วยดี ชีวิตที่เคยเจริญรุ่งเรืองขั้นสุด จู่ๆ กลับรุ่งริ่งดำดิ่งสุดๆ ไปเสียอย่างนั้น
ด้วยความที่เขาทุ่มเทเวลาไปกับกิจกรรมของกาชาดมากเกินไป ธุรกิจจึงเริ่มสะดุดและล้มละลาย เขาต้องลาออกจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ แม้แต่เมมเบอร์ก็ไม่ได้เป็น กลายเป็นคนเร่ร่อน ตะลอนไปอาศัยพึ่งพาเพื่อนฝูงบ้าง องค์กรการกุศลต่างๆ บ้าง ยังมีคนพบเจอดูว์น็องในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็หายหน้าหายตาไปจากสังคม
ดูว์น็องล้มป่วยและไปใช้ชีวิตอยู่ในสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไฮเด็น (Heiden) เมืองเล็กๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ จนปี พ.ศ. 2438 มีนักข่าวไปเจอและเขียนข่าวเกี่ยวกับเขา เมื่อข่าวนั้นเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าผู้คนทั่วโลกยังไม่ลืมอ็องรี ดูว์น็อง หลายคนส่งข้อความให้กำลังใจ ขอบคุณ และชื่นชมในสิ่งที่เขาเคยทำไว้ ดูว์น็องกลับมามีตัวตนอีกครั้ง และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ร่วมกับ Frédéric Passy (เฟรเดริก ปาสซี) นักสันตินิยมชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2444
ประกาศนียบัตรรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่มอบแก่อ็องรี ดูว์น็อง
ที่มาภาพ : ICRC / Vincent Varin / www.icrc.org via Flickr
อ็องรี ดูว์น็อง ยังเป็นผู้ให้จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาไม่ได้ใช้เงินรางวัลที่ได้รับมาสักฟรังก์ แต่บริจาคให้สถานดูแลผู้ป่วยและทำการกุศลอื่นๆ จนหมด ดูว์น็องเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ในวัย 82 ปี
ในปี พ.ศ. 2491 the International Red Cross และ Red Crescent Movement ได้กำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของดูว์น็อง เป็นวันกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงโลก (World Red Cross and Red Crescent Day) เพื่อเป็นเกียรติและเพื่อระลึกถึง “อ็องรี ดูว์น็อง” ชายผู้ก่อร่างสร้างเครือข่ายบรรเทาทุกข์ที่ทั่วถึงและเท่าเทียมให้แก่คนทั่วโลก
ผู้สนใจประวัติของเขาและเรื่องราวของกาชาด สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์กาชาดและเสี้ยววงเดือนสากลได้ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ https://www.redcrossmuseum.ch/en/
ที่มา
- https://www.icrc.org/en/doc/assets/files/publications/icrc-002-0361.pdf
- https://www.icrc.org/en/document/founding-and-early-years-icrc-1863-1914
- https://www.icrc.org/en/doc/resources/documents/misc/57jnvq.htm
- https://www.nobelprize.org/prizes/peace/1901/dunant/biographical/
- https://bit.ly/3z4MnHV