ม.มหิดล – สสส. ร่วมสร้าง “เครื่องมือความเป็นมนุษย์” ด้วยกระบวนการทางจิตตปัญญา

          ในขณะที่โลกพยายามคิดค้น “เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์” ขึ้นใหม่ เพื่อพัฒนาโลกอยู่ตลอดเวลา แต่ “เครื่องมือความเป็นมนุษย์” ที่จะใช้เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนของโลก กลับถูกละเลยมองข้ามไป

          “จิตตปัญญา” เป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานกับมิติด้านในของมนุษย์ เน้นการศึกษาเพื่อสร้างความตื่นรู้ของจิต เพื่อเป็นฐานของการสร้างปัญญาในการเข้าไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิตอย่างเท่าทันและถูกต้อง

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโจทย์ปัญหารอการแก้ไข เพื่อการค้นพบทางออกที่ยั่งยืน จะต้องใช้ “จิตตปัญญา” เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ซึ่งมี “ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา” ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน ภายใต้ชื่อ “โครงการหยั่งรากจิตตปัญญา”

          รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงกระบวนการทางจิตตปัญญาที่ใช้ในการขับเคลื่อนตามแผนการส่งเสริม “สุขภาวะทางปัญญา” ของ สสส. ว่า มีเป้าหมายแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

          ระยะที่หนึ่ง การบ่มเพาะกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะทางปัญญา

          ระยะที่สอง การขยายผลสู่สถาบันต้นแบบสุขภาวะทางปัญญา

          และระยะที่สาม ยกระดับสถาบันต้นแบบต่างๆ ขึ้นสู่การเป็นเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาที่เข้มแข็งในกลุ่มสถาบันการศึกษา

          โดยเป้าหมายสุดท้าย คาดหวังว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดสถาบันการศึกษาต้นแบบที่มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” ในประเทศไทย

          ในปัจจุบันความร่วมมือดังกล่าวอยู่ในระยะแรกที่มุ่งสร้างกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองและบริบทใกล้ตัวที่ตนเองร่วมงานอยู่

          กลุ่มเป้าหมาย คือ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ กลุ่มวิทยาลัยพยาบาล และกลุ่มสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังขับเคลื่อนงานผ่านวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา “Mindfulness Campus” ร่วมกับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการใช้แนวคิดและกระบวนการทางจิตตปัญญา เข้าไปขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน และทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

          โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 – 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดประชุมวิชาการ “จิตตปัญญาสิบห้าปีการเติบโตจากภายในสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้สร้าง “Change Agents” ให้เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่พร้อมเป็น “พลังสำคัญ” ในการออกไปขยายผลสู่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณสุขท้องถิ่น ตลอดจนวิทยาลัยการพยาบาล และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เพื่อสร้าง “เมล็ดพันธุ์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” พร้อมปลูกให้กับ “อนาคตของชาติ” เพื่อให้พร้อมเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางการศึกษาของชาติที่สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป

          “คณะทำงานขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทางจิตตปัญญา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หวังว่า เมื่อประชาชนชาวไทยได้รับการติดตั้ง “อาวุธทางปัญญา” แล้ว จะสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ จากการใช้อำนาจ ไปสู่การพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจ จนสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และเกิดความร่วมมือที่จะนำไปสู่การมีเป้าหมายร่วมกัน หรือสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง กล่าวทิ้งท้าย

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author