ม.มหิดล ค้นพบเยาวชนนักวิทย์รุ่นใหม่หัวใจผู้ประกอบการ

          ในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ว่า เพียงความรู้ทางวิชาการจะไม่เกิดความสำคัญ หากไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

          เช่นเดียวกับทิศทางของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในอดีตที่เคยเน้นเพียงเรื่องการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Sciences) เพื่อเติบโตสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความรู้อย่างถ่องแท้ แต่ปัจจุบันได้มุ่งศึกษาเพื่อการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในวงกว้าง

          รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนานักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงผลการคัดเลือกเยาวชนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน JSTP-SCB (Junior Science Talent Project) จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

          นายวุฒิภัทร อินนท์ทองคำ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในเยาวชนจากโครงการ JSTP-SCB ที่เลือกศึกษาต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของคณะฯ ที่มุ่งบ่มเพาะสู่การเป็นบัณฑิตวิทยาศาสตร์ที่พร้อมด้วยทักษะแห่งการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้ก้าวทันโลกแห่งศตวรรษที่ 21

          โดยปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มี track พิเศษเพื่อการบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาดังกล่าว ด้วยหลักสูตร 5 ปี ที่ในสามปีครึ่งแรกกำหนดให้นักศึกษาของคณะฯ ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์จนสำเร็จวิทยาศาสตรบัณฑิต และอีกปีครึ่งได้ศึกษาต่อด้านการประกอบการที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการจัดการอีกใบ

          หนึ่งในโครงงานของ นายวุฒิภัทร อินนท์ทองคำ ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการตัดสินโครงการ JSTP-SCB จนได้รับคัดเลือก ได้แก่ “โครงงานวัสดุจากน้ำยางพาราป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็งและรองรับแรงกระแทกเนื่องจากการหกล้ม”

          โดยเป็นโครงงานที่ นายวุฒิภัทร อินนท์ทองคำ ได้รับโอกาสให้ร่วมวิจัยกับ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งแต่ยังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล จนมีแนวโน้มที่จะต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแนวใหม่ของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          นายวุฒิภัทร อินนท์ทองคำ คือตัวแทนของ “เยาวชนรุ่นใหม่หัวใจนวัตกร” ผู้มีความฝันจะทำให้ “ยางพารา” พืชเศรษฐกิจที่เปรียบเหมือน “ลมหายใจ” ของพี่น้องชาวใต้ เพิ่มมูลค่าได้ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์สู่ผลิตภัณฑ์ “ปลอกแขนป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง” ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์กีฬาจากต่างประเทศ ด้วยฝีมือคนไทยเพื่อคนไทยในราคาที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้

          รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ความงามของการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด จากการมองทุกอย่างให้เป็นโอกาส สิ่งที่รู้แล้ว ไม่ใช่งานวิจัย แต่ “งานวิจัย คือ การค้นพบ” และจะให้ผลที่งดงามสำหรับผู้ที่พยายามมากพอ เช่นเดียวกับการเป็น “เยาวชนนักวิทย์รุ่นใหม่หัวใจผู้ประกอบการ” ที่พร้อมฝ่าฟันไปสู่จุดมุ่งหมาย

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author