จากความสำเร็จที่ผ่านมาซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ผนึกกำลังส่วนงานที่เกี่ยวข้องวิจัยพืชสมุนไพรไทย และมีการต่อยอดวิจัยพืชสมุนไพรไทยกระชายขาวจนสามารถค้นพบฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร เตรียมสร้างสูตรยา และระดมพลังเกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmers) จากทั่วประเทศเพื่อรองรับการผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมยา ก่อนขยายผลสู่ตลาดโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงแผนการต่อยอดวิจัยพืชสมุนไพรไทยกระชายขาว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล
จากที่ได้ค้นพบฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารว่า เป็นความร่วมมือวิจัยในเบื้องต้น ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาวิจัย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บริษัท ฟาร์ม่าเฮอร์เบิล จำกัด ในการพัฒนาสารสกัดจากกระชายขาว
ที่ผ่านมาได้ค้นพบว่า พืชสมุนไพรไทยกระชายขาวมีฤทธิ์สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ก่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในระดับหลอดทดลอง
โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) รับหน้าที่ในการทำการทดลองในระดับหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง รวมไปถึงร่วมคิดค้นสูตรตำรับ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาสมุนไพร ภายใต้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งเป็นเหมือน “แม่ทัพ” คอยวางแผนและควบคุมการผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐานการส่งออกก่อนบุกตลาดโลก
นอกจากการประสานพลังวิชาการจากภายในมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังได้ขยายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการช่วยสนับสนุนด้านการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกและการพัฒนาชุมชน
นอกจากนั้น ยังจะได้ร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ในระดับประเทศ อาทิ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไปอีกด้วย
โดยมุ่งประสานพลังครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร และผู้ประกอบการของไทย คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้สูงถึง 8,600 ล้านบาทภายใน 3 ปี โดยมีคู่เทียบ (benchmark) ถึงระดับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก
สิ่งท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถกระตุ้นให้ smart farmers จากทั่วประเทศ เกิดการแข่งขันในการปลูกพืชสมุนไพรไทยกระชายขาวให้ได้ตามมาตรฐานการผลิต GAP (Good Agricultural Practice)
ซึ่งในส่วนนี้โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกรชุมชนเพื่อรองรับการผลิตวัตถุดิบให้ได้มาตรฐานดังกล่าว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “สมุนไพรไทย สมุนไพรโลก”
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210