นอกจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลล้างมือเพื่อป้องกันการรับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายแล้ว การทำความสะอาดพื้นรองเท้าที่เหยียบย่ำไปตามพื้นที่ต่างๆ ก็สามารถช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคได้เช่นกัน ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะ จึงได้พัฒนาเครื่องก้าวสะอาด (KAO-SA-ARD) สำหรับทำความสะอาดรองเท้าก่อนเข้าอาคาร
จิรพร ศุภจำปิยา ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม อธิบายว่า เครื่องก้าวสะอาดประกอบด้วยอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีตะแกรงกรองสิ่งสกปรก ถังใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ และพรมสำหรับซับและกระจายน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยจะติดตั้งไว้หน้าอาคารหรือทางเข้า ผู้ใช้งานเพียงก้าวลงอ่างน้ำยาแล้วก้าวเหยียบพรม ก็สามารถเดินเข้าพื้นที่ได้ทันที
“ส่วนที่สัมผัสกับน้ำยาฆ่าเชื้อจะมีเพียงส่วนพื้นรองเท้าเท่านั้น ด้านล่างของอ่างส่วนใต้พื้นรองเท้าจะมีตะแกรงทำหน้าที่กรองฝุ่น ดิน และสิ่งไม่พึงประสงค์ออกจากพื้นรองเท้า ส่วนถังบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อจะมีระบบรักษาระดับความสูงของน้ำยาฆ่าเชื้อและเติมน้ำยาในอ่างเมื่อมีการใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถมั่นใจได้ว่าน้ำยาจะไม่ทำให้รองเท้าเสียหาย เพราะมีการกำหนดปริมาณน้ำยาให้มีปริมาณที่พอเหมาะ”
จิรพร อธิบายเสริมเกี่ยวกับตัวเครื่องว่า การออกแบบเครื่องนี้ประยุกต์มาจากเครื่องทำความสะอาดรองเท้าในโรงงานผลิตอาหาร โดยตัวเครื่องทั้งหมดเป็นสแตนเลส 304 ทุกชิ้นส่วนสามารถถอดมาทำความสะอาด โดยใช้น้ำร้อนลวกทำความสะอาด ตัวเครื่องมีอายุการใช้งาน 4-5 ปี ส่วนตัวถังใส่น้ำยาได้ 10 ลิตร และสามารถเลือกใช้น้ำฆ่าเชื้อได้ตามความต้องการ โดยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้กับเครื่องก้าวสะอาดในตอนนี้ เป็นผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีสำหรับฆ่าเชื้อเบนไซออน (Benzion) ผลงานทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ร่วมกับ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้รวดเร็วตั้งแต่นาทีแรกที่สัมผัสกับเชื้อ โดดเด่นด้วยการไม่มีส่วนผสมของสารไวไฟ และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
เครื่องก้าวสะอาด เป็นผลงานเทคโนโลยีรักษาสุขอนามัย (Hygiene technology) ที่ สวทช. ได้ให้การสนับสนุนแก่จังหวัดกระบี่ เพื่อใช้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยได้ทดลองใช้งานครั้งแรกที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักประสานงาน สวทช. ด้วย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เสริมในเรื่องการสนับสนุนเทคโนโลยีครั้งนี้ว่า การสนับสนุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบบูรณาการ “Krabi Go Green Model” เพื่อสนับสนุนให้กระบี่เป็นจังหวัดต้นแบบในการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว 26 โครงการ ผ่านกลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพในโครงการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC)