เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมกาแล็กติก 4’ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลอันดับ 3 จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 4 (The 4th Kibo Robot Programming Challenge) ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 10 ประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการจัดแข่งขันโครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยทีมกาแล็กติก 4 (Galactic 4) เป็นทีมชนะเลิศ และเป็นทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจากบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด, บริษัทสตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทสเปซ อินเวนเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทแมพพอยท์เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
“ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมกาแล็กติก 4 จากประเทศไทย คว้ารางวัลอันดับสามมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่สามของการแข่งขัน รองจากไต้หวันและสิงคโปร์ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากความสำเร็จของเยาวชนไทยในครั้งนี้ สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนทั้งสี่คนจะได้เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถนำมาแบ่งปัน ต่อยอด รวมทั้งถ่ายทอดให้แก่เพื่อน ๆ เยาวชนไทยรุ่นต่อไป”
ด้าน นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมกาแล็กติก 4 กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับสมาชิกในทีมทุกคนที่ได้ร่วมพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา จนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศ และได้นำไปประมวลผลโปรแกรมบนสถานีอวกาศนานาชาติจริง อีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลอันดับที่สามกลับมาได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก เนื่องจากแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการเก็บคะแนน และแต่ละกลยุทธ์ทำคะแนนได้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เห็นได้จากทุกทีม คือ ความตั้งใจทำผลงานให้ออกมามีประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าแต่ละทีมไม่ได้รู้สึกเสียดายผลคะแนนจากการแข่งขันที่ได้รับ
“นอกจากการแข่งขัน พวกเรายังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นการทำงานของแผนกภาคพื้นดินที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เห็นกระบวนการคัดเลือกนักบินอวกาศ และได้รับประโยชน์มากมายในด้านองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการในอวกาศ ที่สำคัญตลอดการทำกิจกรรมยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างชาติมากมาย ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน สุดท้ายต้องขอขอบคุณ สวทช. และ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา รวมทั้งขอขอบคุณบริษัทเอกชนและผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ ที่สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ และมีโอกาสพูดคุยกับนักบินอวกาศ ดร.โคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata) ที่มีประสบการณ์ภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง”
ทั้งนี้ ทีมกาแล็กติก 4 สามารถคว้ารางวัลอันดับสามมาครอง ด้วยคะแนน 94.79 คะแนน ส่วนทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมฟลายอิง ยูนิคอร์นส์ (Flying Unicorns) จากไต้หวัน คะแนน 110.77 คะแนน และทีมอันดับที่สอง ได้แก่ ทีมเอสเอสทีวัน (SST1) จากสิงคโปร์ 98.54 คะแนน รับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ทาง YouTube ของ JAXA ที่ลิงก์ https://youtube.com/live/DBKVAojl0GQ
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชนได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education