โครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่จากแกลบ เริ่มดำเนินโครงการเมื่อ พฤษภาคม 2560 จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด โดยโครงการวิจัยได้ดำเนินการทดสอบการผลิตวัสดุนาโนซิลิกอนจากแกลบสำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าแอโนดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot scale) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในเชิงพาณิชย์
ในตลาดการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนทั่วโลก มีการวิจัยกันอย่างกว้างขวาง เป็นอนาคตของระบบอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ประเทศไทยนั้นมีจุดยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบไฟฟ้า นับว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก พร้อมยังผลักดันให้มีการแปรรูป ในพัฒนาธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลาย
รศ. ดร. นงลักษณ์ มีทอง หัวหน้าโครงการ เป็นตัวแทนทีมนักวิจัยกล่าวถึงการดำเนินงานวิจัยของโครงการ ว่า ในขั้นตอนแรกได้นำ ข้าว มัน อ้อย ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรและยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นซิลิกาสูงมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตซิลิกอน และนำเอาซิลิกอนมาแปรรูปให้สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง วัสดุทางการแพทย์ แบตเตอรี่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เซลล์แสงอาทิตย์ โดยคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นว่า วัสดุนาโนจากแกลบนั้นจะช่วยแก้ปัญหาของกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ เนื่องจากวัสดุนาโนจากแกลบที่ผลิตขึ้นมาเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่แบบเก่าจะทำให้มีค่าความจุไฟฟ้าที่สูงกว่า ปลอดภัยกว่า และสามารถรองรับการอัดประจุอย่างรวดเร็ว (Fast Charge) และยังสามารถนำวัสดุนาโนจากแกลบนี้ไปประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้อย่างกว้างขวาง
ข้อมูลข่าว https://th.kku.ac.th/91234/